“พิชัย”ถกทูตสหรัฐฯ ย้ำเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ สบช่องดึงดิจิทัลลงทุนไทยเพิ่ม ขอเร่งต่อ GSP

img

“พิชัย” ถกทูตสหรัฐฯ เน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ ชวนบริษัทดิจิทัลสัญชาติสหรัฐฯ มาลงทุนในไทยเพิ่ม หลัง Google และ Amazon มาแล้ว แย้ม HP กำลังจะมา สบช่องชูไทยเป็นฮับความมั่นคงด้านอาหาร พร้อมส่งออกป้อนทุกประเทศ และขอให้สหรัฐฯ เร่งพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 63 โดยเร็ว
         
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน หลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่ง โดยตนได้เน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้ความร่วมมือกับสถานทูตสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน
         
ทั้งนี้ ยังได้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เสริมสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการค้าและการลงทุน และพร้อมต้อนรับการมาเยือนของคณะนักธุรกิจ USABC (U.S.-ASEAN Business Council - USABC) ในเดือน พ.ย.2567 และยังพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์

“ได้ขอบคุณบริษัทดิจิทัลสัญชาติสหรัฐฯ อย่างบริษัท Google และ Amazon ที่ได้ยืนยันแผนการลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ในไทย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค พร้อมทั้งได้เชิญชวนบริษัทดิจิทัลสัญชาติสหรัฐฯ อื่น ๆ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันทราบว่า บริษัท HP ของสหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างการเข้ามาลงทุนในไทย โดยสหรัฐฯ ได้แจ้งว่าพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น”



นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางความมั่งคงทางอาหาร (Food Security Hub) โดยเป็นคลังสินค้าและส่งออกอาหารให้กับทุกประเทศที่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ อีกทั้งได้แสดงความยินดีต่อการสรุปผลแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ที่ทั้งสองประเทศได้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL)

ในปี 2566 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทย รองจากจีน มีมูลค่าการค้ารวม 67,659.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 48,352.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 3 ของไทย มีมูลค่าการนำเข้า 19,307.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง