“พาณิชย์”เกาะติดมะพร้าว-กะทิสด หลังราคาขยับ ส่งสายตรวจสอบ ป้องกระทบประชาชน

img

“พาณิชย์”เกาะติดสถานการณ์มะพร้าวผลแก่และกะทิสดใกล้ชิด หลังราคาปรับตัวสูงขึ้น พบสาเหตุมาจากช่วงนี้ผลผลิตออกน้อย และผลผลิตลดลงจากเจอภัยแล้ง และโรคแมลงศัตรูมะพร้าวระบาด ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ตรวจสอบราคาใกล้ชิด ไม่ให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชน
         
นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีข่าวปัญหามะพร้าวผลแก่และกะทิสดในจังหวัดตรัง มีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารและขนมหวานหลายชนิดที่ใช้กะทิเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ผลผลิตและราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบและกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค และยังได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ราคามะพร้าว กะทิ และราคาอาหารและขนมหวาน โดยให้เจ้าหน้าที่สายตรวจสุ่มตรวจสอบร้านค้าอย่างต่อเนื่องด้วย
         
“กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะติดตามสถานการณ์มะพร้าวแก่และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ประกอบการดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด จะดำเนินการตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอพลิเคชัน [email protected] และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ” นายวิทยากรกล่าว
         


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานการณ์มะพร้าวผลแก่และกะทิสด พบว่า มะพร้าวผลแก่ เป็นสินค้าที่ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี โดยช่วงออกมากช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. ราคาที่เกษตรกรขายได้ จะเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อยู่ที่เฉลี่ย 5-9 บาท/ผล และช่วงออกน้อยเดือน ส.ค.-มี.ค. ราคาจะปรับสูงขึ้น อยู่ที่เฉลี่ย 18-28 บาท/ผล และขณะนี้ แนวโน้มราคามะพร้าวผลแก่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ปัจจุบัน (ณ วันที่ 16 ต.ค.2567) ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 19.08 บาท/ผล

โดยปี 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่า จะมีมะพร้าวผลแก่ในประเทศ ประมาณ 0.86 ล้านตัน น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่มี 0.94 ล้านตัน และน้อยกว่าผลผลิตย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี (2564-66) ร้อยละ 8.51 และ 7.53 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะฝนแล้งต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอกับความต้องการของมะพร้าว รวมทั้งโรคแมลงศัตรูมะพร้าวระบาด (แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรด) ขณะที่ความต้องการใช้ อยู่ที่ 1.19 ล้านตัน โดยเป็นความต้องการใช้ของตลาดผู้ค้าส่ง ตลาดสด ประมาณร้อยละ 35 และโรงงานกะทิสำเร็จรูป ประมาณร้อยละ 65 แต่โรงงานได้นำเข้ามะพร้าวผลมาใช้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งช่วยให้ภาวการณ์ขาดแคลนมะพร้าวผลภายในประเทศผ่อนคลายได้ระดับหนึ่ง
           
อย่างไรก็ตาม สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์-อุปทานมะพร้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีการกำกับดูแลโดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมีผู้แทนของหน่วยงานราชการ เอกชน และเกษตรกร เป็นอนุกรรมการ/กรรมการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง