มารู้จัก 2 รัฐมนตรีใหม่พาณิชย์ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ – ชุติมา บุณยประภัศร" กับภารกิจดูแลปากท้อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

img

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด หรือที่เรียกกันว่า “ครม.ประยุทธ์ 5” ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ โดยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ ถูกปรับพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแต่งตั้งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ โดยมีน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
         
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือว่าแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะสื่อไม่สามารถพาดหัวข่าวได้ว่า “พาณิชย์ได้รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง” เพราะนายสนธิรัตน์ ถือเป็นรัฐมนตรีที่ทำงานอยู่ในกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว เพียงแต่การปรับ ครม. ครั้งนี้ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น

ส่วนน.ส.ชุติมา จะว่าเป็นรัฐมนตรีป้ายแดงสำหรับกระทรวงพาณิชย์ก็ว่าได้ แต่ก็พูดไม่ถนัดปากเสียเท่าไร เพราะน.ส.ชุติมา เป็นลูกหม้อของกระทรวงพาณิชย์ โดยตลอดทั้งชีวิตการทำงาน เป็นข้าราชการที่เติบโตมาในกระทรวงพาณิชย์ และมีตำแหน่งสุดท้าย คือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่จะจับพลัดจับพลู ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากที่เกษียณอายุราชการได้ไม่นาน จนปรับ ครม. ครั้งนี้ ถือว่า ได้กลับมาบ้านเก่า แต่ตำแหน่งใหม่

ทีนี้ มารู้จัก 2 รัฐมนตรีใหม่และผลการทำงานในช่วงที่ผ่านมากัน
         
สำหรับนายสนธิรัตน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวัสดุศาสตร์ และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทำงานทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคการเมือง
         
ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตัวเองเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาทั้งชีวิต ทำธุรกิจหลายอย่างมาก เป็นลูกจ้าง เป็นเจ้าของกิจการ เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เลยหันมาทำสกินแคร์ ส่งสมุนไพรไปนอก ทำธุรกิจขายตรง MLM เดอะไรท์ พาวเวอร์ ขายเครื่องครัวชั้นนำจากอิตาลี เป็นประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และเคยช่วยโรงพยาบาลยันฮีปรับโครงสร้างธุรกิจ ที่เดิมย่ำแย่ จนสามารถพลิกยันฮีให้เป็นยันฮีได้อย่างทุกวันนี้ และนี่คือ ประสบการณ์ทางธุรกิจ
         
จากนั้น ได้ทำงานในมูลนิธิสัมมาชีพ ช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชน ถัดมา ได้สมัครเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือสปช. ด้านสังคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่วงการการเมือง ทำงานด้านสังคม จนหมดวาระ และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางอรรชกา สีบุญเรือง) จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา
         
การทำงานในกระทรวงพาณิชย์ช่วงที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ นายสนธิรัตน์ กำกับดูแลงานด้านการค้าภายในประเทศเป็นหลัก ดูแลงานกรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีผลงานที่สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักด้วยการที่เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดีย สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้โดยตลอด โดยเฉพาะการดึง “หน้ากากทุเรียน” ที่ตอนนั้นกำลังโด่งดังจากการประกวด “เดอะ แมส ซิงเกอร์” มาเป็นพรีเซนเตอร์เพื่อกระตุ้นการบริโภคทุเรียน ต่อมา ได้ดึง “ลำไย ไหทองคำ” ที่โด่งดังจากเพลงผู้สาวขาเลาะ มาเป็นพรีเซนเตอร์โปรโมตลำไย
         
นอกจากนี้ ยังมีผลงานในการผลักดันการเปิดตลาดต้องชมในจังหวัดต่างๆ ของประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งค้าขายใหม่ของชุมชน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของนักท่องเที่ยว ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้อีกเช่นเดียวกัน ด้วยการเสนอแนวคิด ผลักดันให้คนที่ไปเที่ยวตลาดต้องชม ต้องไป ชม ชิม ชอป และแชะ เพราะคนไทยชอบถ่ายรูป จนถึงขั้นมีแนวคิดผลักดันให้ตลาดต้องชมบางแห่ง เป็นตลาดต้องชมเฉพาะ ที่พ่อค้าแม่ค้า ต้องแต่งชุดไทย ชุดท้องถิ่น ส่วนคนที่จะไปท่องเที่ยว ก็ต้องแต่งชุดไทยหรือชุดประจำท้องถิ่นเข้าไป โดยมีร้านเช่าชุดให้เช่า อะไรทำนองนี้
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังผลักดันให้มีตลาดเฉพาะอย่าง ซึ่งได้ผลักดันเปิดตลาดเฉพาะสินค้าทุเรียน จนปีนี้ แม้ว่าทุเรียนจะออกสู่ตลาด กลับไม่มีปัญหาด้านราคาตกต่ำ และกำลังจะเปิดตลาดซีฟู้ด และตลาดผ้าไหม
         
ด้านการดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จ ได้ผลักดันให้มีจำนวนร้านหนูณิชย์พาชิม ที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคาถูกไม่เกินจานชามละ 35 บาท โดยล่าสุดมีจำนวนร้านค้ากว่า 1.2 หมื่นร้านทั่วประเทศ และในจำนวนนี้ได้ผลักดันให้เป็นร้านหนูณิชย์ติดดาว เพื่อยกระดับร้านอาหารหนูณิชย์ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีรถจำหน่ายอาหาร (รถฟู้ดทรัค) เพื่อช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย 
         
นอกจากนี้ ได้วางแนวทางในการช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชน SMEs ผู้ผลิตสินค้าโอทอป ร้านค้าปลีกรายย่อย โดยได้เข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็ง ผลักดันให้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การพัฒนาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ การผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและบริการ การดูแลและปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งล่าสุด ได้มีการสั่งการให้จับแหลก หากพบการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาล ของตูน บอดี้สแลม
         
ส่วนผลงานที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน ก็สามารถผลักดันให้มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ที่พร้อมเปิดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วกว่า 1.3 หมื่นร้านทั่วประเทศ และกำลังรอติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) อีกประมาณ 5 พันแห่ง ก็จะครบตามเป้าหมาย 1.8 หมื่นแห่ง ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพราะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจชุมชนมีการขับเคลื่อน และที่สำคัญ ช่วยลดภาระด้านค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยได้จริง
         
สำหรับ น.ส.ชุติมา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (การคลัง) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น มิชิแกน สหรัฐฯ
         
โดยในด้านการทำงาน เริ่มรับราชการปี 2525 ตำแหน่งเศรษฐกร 3 กองนโยบายการพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ จากนั้นปี 2528 เป็นเศรษฐกร 6 ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ นครเจนีวา ปี 2536 ตำแหน่งผู้อำนวยการ กองการค้าพหุภาคี กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ปี 2539 เป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ปี 2541 เป็นนักวิชาการพาณิชย์ 9 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการค้าพหุภาคี ปี 2544 เป็นรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2548 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ปี 2550 เป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
         
และนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ชีวิตการทำงานเรียกว่าโลดโผนมาก เพราะเดือนเม.ย.2552-ก.ย.2552 ถูกโยกไปเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พอเดือนต.ค.2552-เม.ย.2553 เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน และเดือนพ.ค.2553-มิ.ย.2557 ถูกโยกไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ จนกระทั่งเจ้าตัว ยังคิดว่า ตัวเองต้องเกษียณในตำแหน่งนี้แล้วด้วยซ้ำ
         
แต่หลังจากที่ คสช. ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นปลัดหญิงคนที่ 3 ของกระทรวงพาณิชย์
         
บทบาทการทำงานในช่วงที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลปากท้องประชาชน ดูแลราคาเกษตรกร ดูแลเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี เป็นผู้ริเริ่มการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในกระทรวงพาณิชย์ และยังเป็นผู้ผลักดันโครงการข้าวนาแปลงใหญ่ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันการสร้างนวัตกรรมข้าว แต่ที่เรียกเสียงปรบมือ ก็คือ การลงนามเรียกค่าเสียหายการทุจริตในโครงการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ช่วงเวลานั้น มีการดึงเรื่องกันไปมาว่าใครจะเป็นคนเซ็น และใครจะเซ็นแทนใคร
         
ณ จุดนี้ ก็พอทราบประวัติ และผลงานของ 2 รัฐมนตรีกันไปแล้ว
         
ทีนี้ มาดูกันว่า ภารกิจสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องขับเคลื่อนจากนี้ไป มีอะไรกันบ้าง ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คงหนีไม่พ้นการดูแลปัญหาปากท้องประชาชน ที่ทุกวันนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากออกมาอย่างต่อเนื่อง การดูแลราคาสินค้าเกษตร ที่หลายรายการราคายังตกต่ำ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นงานหนัก ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบ
         
มาคอยติดตามดูผลงานกัน!!!

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง