​“พรวิช ศิลาอ่อน” แนะนำ DITP Business AI ระบบที่จะช่วยผู้ส่งออกค้าขายได้ง่ายขึ้น

img

โลกทุกวันนี้ได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การแข่งขันทางการค้าของโลก มีความเข้มข้นมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ใครมีข้อมูลมาก มีข้อมูลเชิงลึก ก็ย่อมที่จะชิงความได้เปรียบมากกว่า ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้เล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการค้าที่มีอยู่จำนวนมากศาล (Big Data) จึงได้เดินหน้าพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ หรือที่มีชื่อว่า DITP Business AI ขึ้นมา
          
ระบบดังกล่าว มีที่มาที่ไปอย่างไร จะมีประโยชน์ และจะช่วยพลิกโฉมหน้าการทำการค้าระหว่างประเทศได้อย่างไร ติดตามกันได้จาก นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศและการบริการการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น  
          
นายพรวิช เล่าว่า เรามองว่ายุคนี้เป็นยุคดิจิทัล หากสามารถนำข้อมูลการค้าที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ มาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการทำการค้าระหว่างประเทศได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ จึงได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เข้ามาช่วยวางแผน ช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาโอกาสทางการค้าว่าอยู่ตรงไหน อย่างไร ตลาดไหนที่มีโอกาส และอีกด้าน ก็จะรู้ว่าความเสี่ยงทางการค้าอยู่ตรงไหน จะได้ระวังตัว
          
“ยุคข่าวสารปัจจุบัน สามารถเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้ในทันที เช่น ภัยแล้งเกิดในประเทศคู่แข่ง ก็จะเป็นประโยชน์กับไทย ในการส่งออกสินค้าไปทดแทนคู่แข่ง หรือโควิด-19 ระบาดในประเทศที่เป็นตลาดส่งออก ก็จะเกิดประโยชน์กับการส่งออกสินค้าไทยบางรายการ ถ้ามี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ ก็จะช่วยรวบรวมข้อมูล ชี้ให้เห็นถึงโอกาส แล้วก็สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการส่งออกได้”
          


นายพรวิชกล่าวอีกว่า ระบบ AI ที่จะนำมาใช้ จะมีการรวบรวมข้อมูล 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลเชิงโครงสร้าง หรือ Structured Data จะเป็นพวกตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลก อีกด้านจะเป็นข้อมูลไร้โครงสร้าง หรือ Unstructured Data โดยข้อมูลพวกนี้ จะเป็นพวกข่าวสารด้านการค้าระหว่างประเทศ ข่าวสารจากทูตพาณิชย์ที่กรมฯ มีอยู่ 58 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีทั้งข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลเชิงโอกาส และความเสี่ยง

“เราจะนำข้อมูลทั้งเชิงโครงสร้าง และข้อมูลไร้โครงสร้าง มารวมกัน ให้ AI ช่วยวิเคราะห์ ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมา อะไร คือ โอกาสทางการค้าของไทย ตลาดไหน วิเคราะห์ได้กระทั่งคู่แข่งเป็นใคร แนวโน้มการเติบโต เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วเป็นยังไง”

นอกจากนี้ สิ่งที่เราจะใส่เข้าไป ให้ AI ช่วยวิเคราะห์ ก็คือ การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ เพราะเป็นการค้าที่เติบโตแบบก้าวกระโดดมาก เราจะให้ AI วิเคราะห์ด้วยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านทางอีคอมเมิร์ซเป็นยังไง ต้องการสินค้าอะไร เพื่อที่จะได้มีข้อมูลมาใช้วางแผนในการทำตลาดออนไลน์
          
สำหรับสินค้านำร่องที่จะใช้ระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ นายพรวิช บอกว่า เบื้องต้นจะเน้นสินค้าที่เป็นตัวหลักๆ ในการส่งออก หรือเป็นสินค้าที่ระดับนโยบายให้ความสำคัญก่อน ตอนนี้มีประมาณ 15 รายการ ได้แก่ ข้าว น้ำผลไม้ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน อัญมณีแท้ เครื่องประดับแท้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สมุนไพร (น้ำมันหอมระเหย) คิดว่าจะเริ่มต้นราวๆ 10 รายการ และจากนั้นจะขยายรายการสินค้าให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของสินค้าอุตสาหกรรม 
          


ส่วนการใช้งานระบบ DITP Business AI กำลังจะเริ่มทดลองการใช้งาน โดยมีแผนที่จะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ปัจจุบันมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการสนับสนุนให้มีการยกระดับการผลิต หรือนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตสินค้า ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP)

“ผู้ประกอบการในโครงการนี้ ถือเป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่จะได้ใช้ประโยชน์ แล้วจะนำผลตอบรับที่ได้มาประเมินดูว่ามีฟีดแบกกลับมายังไง ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุงอะไรตรงไหน ก็จะทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก จากนั้นจะขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาชิกของสมาคมการค้าต่างๆ โดยจะเน้นในกลุ่มสินค้าที่ได้นำระบบ AI มาวิเคราะห์ก่อน เพราะคงไม่ได้ทุกกลุ่มสินค้า แต่ในอนาคต จะเพิ่มจำนวนการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการ”นายพรวิชกล่าว

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง