เมื่อครั้งการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรที่คั่งค้างอยู่ในระบบ เพื่อล้างคำขอจดสิทธิบัตรที่ค้างอยู่ ซึ่งบางคำขอค้างมาเป็น 10 ปี 20 ปี ซึ่งถือนานเกินไป และไม่ส่งผลดีต่อการดึงดูดการลงทุน และการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย
ปัญหาคำขอจดสิทธิบัตรคั่งค้างสะสมรอการตรวจสอบและขึ้นทะเบียน หรือที่เรียกกันว่า Backlog เป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่ก่อตั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา สะสมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยสาเหตุมาจากจำนวนผู้ตรวจสิทธิบัตร ซึ่งเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเทคโนโลยีของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีไม่เพียงพอ ปัจจุบัน มีเพียงแค่ 24 คน
ทั้งนี้ ในแต่ละคน มีสัดส่วนการตรวจสอบคำขอจดสิทธิบัตรมากถึง 325 คำขอ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน พบว่า อินโดนีเซีย ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร 1 คน ตรวจสอบ 96 คำขอ เวียนนาม 1 คน ต่อ 77 คำขอ มาเลเซีย 1 คน ต่อ 71 คำขอ ฟิลิปปินส์ 1 คน ต่อ 83 คำขอ สิงคโปร์ 1 คน ต่อ 126 คำขอ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไทยมีสัดส่วนการพิจารณาคำขอต่อหนึ่งคนมากที่สุดในอาเซียน และมากที่สุดในโลก
การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการแก้ไขโดยได้เสนอขอเพิ่มจำนวนอัตรากำลังของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเทคโนโลยีเฉพาะด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก 120 คน ซึ่งได้รับการอนุมัติมาแล้ว 70 คน และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการบ่มเพาะประสบการณ์
“รัฐบาลได้ตระหนักว่าปัญหาสิทธิบัตรค้างตรวจสอบ จะส่งผลกระทบต่อการสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ จึงได้อนุมัติอัตรากำลังเพิ่มให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหา Backlog”นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้อธิบายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้จำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพิ่มเข้ามา แต่ก็ไม่สามารถลดจำนวนสิทธิบัตรคั่งค้างลงได้อย่างทันท่วงที เพราะผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเหล่านี้ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการฝึกฝนให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและพร้อมปฏิบัติหน้าที่ และหลังจากนั้น เมื่อผู้ตรวจสอบใหม่เริ่มสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ถึงจะทำให้การพิจารณาตรวจสอบสิทธิบัตรทำได้รวดเร็วขึ้น
จะเห็นได้ว่า แนวทางการแก้ปัญหา Backlog ข้างต้น ไม่สามารถทำให้จำนวนคำขอสิทธิบัตรคั่งค้างลดลงได้ เพราะคำขอเก่าไม่ออก คำขอใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางออกด้วยการใช้ ม.44 เข้ามาแก้ไขปัญหา
เพราะหากยิ่งปล่อยเอาไว้ ไม่เพียงแต่ทำให้การจดสิทธิบัตรของไทยไม่ก้าวหน้า แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการผลักดันให้คนไทย “คิดเป็น พัฒนาเป็น” และหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ แต่หาก “คิดได้ ทำได้แล้ว” พอมาเจอปัญหาการจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองงานทรัพย์สินทางปัญญาที่ล่าช้า ก็อาจจะทำให้หมดกำลังใจในการพัฒนาคิดค้นได้
นางอภิรดีกล่าวว่า มาตรการพิเศษที่รัฐบาลกำลังจะนำออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรล่าช้า จะช่วยแก้ไขปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรที่ค้างการพิจารณาอยู่ในระบบได้จริง และจะช่วยให้การพิจารณาออกสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันมีจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรที่ค้างการพิจารณาทุกสาขาเทคโนโลยีมีเป็นจำนวนมากกว่า 36,000 คำขอ ซึ่งหากสามารถเคลียร์ลงได้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำได้ดีขึ้น
แนวทางการดำเนินการที่ทำได้ทันที คือ การแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบ หรือที่เรียกกันว่า Work Sharing ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศต่างๆ ใช้อยู่ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น โดยมาตรการนี้ จะเป็นมาตรการทางเลือกชั่วคราวที่จะใช้กับคำขอสิทธิบัตรที่ค้างการพิจารณามาเป็นเวลานาน และหากสิทธิบัตรได้รับการอนุมัติในต่างประเทศแล้ว ก็จะช่วยร่นขั้นตอนการพิจารณาลงได้
แต่การนำมาตรการนี้มาใช้ ไม่ใช่ว่า จะปลดล็อค ปล่อยผี ไปรวดเดียวหมดเลย แต่ขั้นตอนการทำงาน กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะนำมาตรการนี้มาใช้ร่วมกับคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรที่จัดทำขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ประดิษฐ์ และภาคประชาสังคม ซึ่งหมายความว่า การดำเนินการตามมาตรการนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงมีหน้าที่ตรวจสอบคำขอให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรอยู่เหมือนเดิม และต้องผ่านกลไกการคัดกรองคำขอก่อนเข้าสู่ระบบ แต่มันจะมีขั้นตอนอื่นๆ ที่ช่วยร่นระยะเวลาได้
อย่างไรก็ตาม หากมีการอนุมัติการจดสิทธิบัตรไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่า ได้แล้วได้เลย แต่มีช่องทางเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการทบทวนผลตรวจสอบได้ด้วย หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการระยะยาว โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เพื่อให้การตรวจสอบสิทธิบัตรมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตามแผนคาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายจากทุกภาคส่วนได้ภายในกลางปีนี้
สำหรับข้อกังวลที่กลุ่มเอ็นจีโอได้คัดค้านการนำ ม.44 มาใช้ โดยระบุว่า การเร่งจดสิทธิบัตรจะทำให้คำขอสิทธิบัตรยาได้รับการอนุมัติเร็วขึ้น และส่งผลทำให้ยามีราคาแพงขึ้นตามไปด้วยนั้น นางอภิรดี ยืนยันว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะการยื่นจดสิทธิบัตรยา เป็นเรื่องของการขอรับความคุ้มครองยาใหม่ ถ้าได้รับจดสิทธิบัตรไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของการคุ้มครอง ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาแพงหรือยาไม่แพง เพราะแม้ผู้ผลิตจะได้รับจดสิทธิบัตร ก็ไม่ได้หมายความว่า จะนำยาออกวางจำหน่ายได้ทันที ผู้ผลิตต้องไปยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ถึงจะนำออกขายได้ ซึ่งหากมีราคาแพง ก็เป็นเรื่องที่ อย. จะต้องติดตามและตรวจสอบ
ทั้งหมดนี้ คือ เหตุและผล ที่รัฐบาลพิจารณาใช้ ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหาคำขอจดสิทธิบัตรคั่งค้าง ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตาม
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง