​มาตรการ “พาณิชย์” ช่วยประชาชนประสบภัยน้ำท่วม สั่งคุมเข้มสินค้า ลดต้นทุนธุรกิจ ส่งคาราวานนำสินค้าจำเป็นลงพื้นที่ จัดธงฟ้าลดค่าครองชีพ

img

นับตั้งแต่พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ประสบปัญหาอุทกภัย และมีถึง 11 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เช่น จังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสาคาม ยโสธร บึงกาฬ นครราชสีมา และชัยภูมิ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเต็มที่และทันท่วงที ทั้งการดูแลประชาชนทั้งในช่วงที่ประสบภัย และการให้ความช่วยเหลือหลังจากน้ำลดแล้ว
       
ในช่วงที่น้ำเริ่มท่วม วันที่ 28 ก.ค.2560 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการทันทีให้กรมการค้าภายในดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดแคลน และดูแลพ่อค้าแม่ค้าห้ามไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและกักตุนสินค้า หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

ส่วนในพื้นที่ใด หากมีปัญหาสินค้าขาดแคลน ให้เร่งประสานสินค้าจากพื้นที่ใกล้เคียงส่งสินค้าเข้าไปในพื้นที่ทันที และหากน้ำลดแล้ว ให้ประสานเพิ่มปริมาณสินค้าที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมบ้านเรือน เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อไปใช้ในการดูแลและซ่อมแซมบ้านเรือนด้วย

จากนั้นวันที่ 29 ก.ค.2560 นางอภิรดีได้แจ้งความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกครั้ง โดยระบุว่า ได้มีการประสานห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ แม็คโคร เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ และ 7-Eleven ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยให้เร่งเปิดดำเนินการและเร่งกระจายสินค้าเข้าสู่พื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าขาดแคลน และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการจัดคาราวานสินค้าธงฟ้า นำสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และเครื่องนุ่งห่ม ลงไปจำหน่ายในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานไปยังผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ให้เตรียมการเพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมบ้าน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนที่ต้องใช้ในการซ่อมแซมบ้าน

จากนั้นวันที่ 1 ส.ค.2560 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดงาน GI Market 2017 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-7 ส.ค.2560 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต โดยนำสินค้า GI จากทั่วประเทศมาจัดจำหน่ายกว่า 60 บูธ ให้ประชาชนในเมืองกรุงได้เลือกชม เลือกซื้อ แต่ที่พิเศษ ก็คือ ได้นำสินค้า GI จากผู้ประกอบการจังหวัดสกลนครที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมาจำหน่ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เนื้อโคขุนโพนยางคำ น้ำหมากเม่าสกลนคร และข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี โดยได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม

ไม่เพียงแค่นั้น หลังจากที่น้ำลดแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายังมีแผนที่จะลงพื้นที่ถ่ายทำแหล่งผลิตสินค้า GI ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้า GI ที่ผลิตจากจังหวัดสกลนครเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่หาจากที่อื่นไม่ได้ และยังจะเป็นการช่วยโปรโมตให้แหล่งผลิตสินค้า GI เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้คนเข้าไปเที่ยว

ต่อมา วันที่ 3 ส.ค.2560 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แจ้งความคืบหน้าผลการประสานห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ร้านสะดวกซื้อในพื้นที่เขตเทศบาลจังหวัดสกลนครที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ให้เร่งเปิดจำหน่ายสินค้า โดยห้างบิ๊กซี แม็คโคร เซเว่นอีเลฟเว่น ได้เริ่มเปิดจำหน่ายสินค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2560 ยกเว้นห้างเทสโก้ โลตัส ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาก คาดว่าจะเปิดทำการได้ในช่วงต้นเดือนส.ค.2560

ที่ดีไปกว่านี้ ก็คือ ห้างได้จัดกิจกรรมลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และผลิตภัณฑ์ชำระล้าง ราคาถูกกว่าท้องตลาด 20-40% 

นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้มีการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการ เช่น ของใช้ประจำวัน ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นที่ อุปกรณ์วัสดุซ่อมแซมบ้านเรือน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมจัดงานธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ชำระล้าง อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านไปจำหน่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลังน้ำลดทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยจะเริ่มจัดงานธงฟ้าที่จังหวัดสกลนคร ในพื้นที่ 5 อำเภอ จำนวน 10 แห่ง ภายในสัปดาห์หน้า
       
ถัดมาอีกวัน คือ วันที่ 4 ส.ค.2560 น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจใน 10 จังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยได้ขยายระยะเวลาทำธุรกรรมทางนิติบุคคล ทั้งการแจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การส่งงบการเงิน การยื่นจดทะเบียนนิติบุคคล และเพิ่มพื้นที่การให้บริการ มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจก้าวพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

สำหรับธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม 10 จังหวัด ที่จะได้รับผลดีในครั้งนี้มีอยู่จำนวน 32,363 ราย แบ่งเป็นสกลนคร 2,009 ราย ร้อยเอ็ด 2,307 ราย นครพนม 1,462 ราย นครราชสีมา 10,716 ราย กาฬสินธุ์ 1,428 ราย ยโสธร 1,142 ราย มุกดาหาร 1,042 ราย อำนาจเจริญ 619 ราย อุบลราชธานี 3,892 ราย และพระนครศรีอยุธยา 7,746 ราย  

และล่าสุด ปิดท้ายสัปดาห์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเตรียมที่จะปล่อยรถคาราวานเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคราม ในวันที่ 9 ส.ค.นี้

โดยสิ่งของที่จะถูกส่งไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จะเป็นสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะแรก โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนช่วยกันบริจาคสิ่งของ อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง นม UHT บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และซ๊อสปรุงรส เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คือ ภารกิจดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งก่อนและหลัง และกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ โดยกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป 
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง