​ถาม-ตอบ ใครทำลายชาวนา ใครทำลายตลาดข้าว อ่านข้อเท็จจริงทำไมต้องล้มโครงการจำนำข้าว ทำไมต้องผลักดันให้ชาวนายืนได้ด้วยตัวเอง

img

          ขณะนี้มีความพยายามที่จะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยนำหนังสือ “ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา” ซึ่งเปิดตัวไปตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2560 มาเป็นประเด็นกล่าวหารัฐบาลและสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นกับชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอีกครั้ง แม้ว่ารัฐบาลจะได้ชี้แจงและทำความเข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างชัดแจ้งชัดเจนไปแล้วก็ตาม  
         
          โดยประเด็นที่มีความพยายามในการบิดเบือน ก็คือ พยายามตอกย้ำว่ารัฐบาลเป็นต้นเหตุทำให้ราคาข้าวตกต่ำ กล่าวหารัฐบาลว่าไม่สามารถบริหารจัดการตลาดข้าวได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการกล่าวหาที่สวนทางกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็คือ ข้าวไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น  โดยสามารถสรุปเป็นข้อกล่าวหา และคำชี้แจงจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลสินค้าข้าวได้ดังนี้
 
ข้อกล่าวหา
          รัฐบาล คสช. มองปัญหาชาวนาผิดประเด็น เพราะชาวนาต้องการราคาข้าวที่ขายแล้วมีกำไร มีเงินเหลือใช้จ่าย และขอให้รัฐบาลกำหนดราคาที่ชาวนาควรจะได้เหมือนที่ผ่านมา
 
คำชี้แจง
          รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเกษตรกรและระบบการค้าสินค้าข้าวอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกตลาดดูแลราคาข้าวให้มีเสถียรภาพและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ค้าตลาดโลกและคู่แข่ง โดยการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สนับสนุนบทบาทของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ เสริมสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มช่องทางเลือกและเพิ่มอำนาจต่อรองในการจำหน่ายข้าวของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ส่วนกรณีที่เกษตรกรขายข้าวได้ราคาลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นไปตามสถานการณ์ราคาข้าวที่ลดต่ำลงทั่วโลกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตรายละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ และช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท
 
ข้อกล่าวหา
        การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดของรัฐบาล คสช. และขาดการดูแลจากรัฐบาล อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต ค่ายา ค่าปุ๋ยขึ้นราคา
 
คำชี้แจง
        รัฐบาลได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบกำรปุ๋ยเคมีปรับลดลงอีกกระสอบละ 10 –30 บาท และสารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปรับลดลงร้อยละ 5–15 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต ข้าวโดยรวมลดลงจากรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม
 
ข้อกล่าวหา
          การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่นทำไม่ได้
 
คำชี้แจง
          รัฐบาลมีนโยบายการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพให้แก่ชาวนา โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการด้านการปรับโครงสร้างการเพาะปลูก ซึ่งต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร รวมทั้งชี้ให้เห็นประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีเกษตรกรเปลี่ยนไปทำเกษตรกรรมทางเลือกจำนวน 30,263 ราย พื้นที่ 1.37 แสนไร่ จากเป้าหมาย 4.2 แสนไร่ คิดเป็น 32.78% ปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงกระบือ โคเนื้อ แพะ นาหญ้า รวมทั้งสิ้น 13,521 ราย พื้นที่ 65,780 ไร่ จากเป้าหมาย 1.5 แสนไร่ คิดเป็น 43.85%  และฤดูผลิตนาปรัง ได้ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย มีเกษตรกรเข้าร่วม 66,800 ราย พื้นที่ 3.23 แสนไร่ จากพื้นที่เป้าหมาย 3 แสนไร่ คิดเป็น 107.66% ส่วนโครงการปุ๋ยสด มีเกษตรกรเข้าร่วม 12,592 ราย พื้นที่ 1.96 แสนไร่ จากเป้าหมาย 2 แสนไร่ คิดเป็น 98.32% และส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเกษตรกรเข้าร่วม 28,331 ราย พื้นที่ 2.68 แสนไร่ จากพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ คิดเป็น 13.42% ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นในระยะยาว
 
ข้อกล่าวหา
        จำนำยุ้งฉางทำไม่ได้ เพราะชาวนาไม่มียุ้งฉางกันแล้ว ชาวนาเกี่ยวสด ขายข้าวเลย เพราะไม่มีลานตาก
 
คำชี้แจง
        โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยดูดซับอุปทานออกจากตลาด ทำให้ราคาตลาดมีเสถียรภาพ โดยในสภาพความเป็นจริงชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมียุ้งฉางในการเก็บข้าวเปลือกไว้บริโภคเกือบทุกครัวเรือน แต่จากการดำเนินโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ผ่านมา มีผลการรับจำนำเพียง 2-5 แสนตันเท่านั้น แม้จะมีการตั้งราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป
        โดยรัฐบาลมีนโยบายใช้กลไกการเก็บรักษาข้าวในยุ้งฉางเกษตรกรอย่างเต็มประสิทธิภาพ คำนึงถึงระบบกลไกตลาดโดยไม่บิดเบือน จึงกำหนดราคาสินเชื่อให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาฝากเก็บในยุ้งฉางในอัตราร้อยละ 90 ของราคาตลาด และจูงใจโดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ทำให้สามารถดูดซับอุปทานออกจากตลาดผ่านยุ้งฉางเกษตรกรได้สูงสุดตั้งแต่ดำเนินการมาถึง 1.588 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพมากขึ้น
        สำหรับพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งมียุ้งฉางน้อย เกษตรกรเกี่ยวสด รัฐบาลยังดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการจำหน่ายในทุกพื้นที่ โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถเข้าร่วมโครงการผ่านกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ได้
 
ข้อกล่าวหา
        มาตรการช่วยเหลือชาวนาในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ โดยการให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ค่าปรับปรุงคุณภาพตันละ 2,000 บาท โดยกล่าวหาว่า การปรับราคารับจำนำยุ้งฉางข้าวหอมมะลิจากตันละ 11,525 บาท (มติ นบข. 31 ต.ค.2559) เป็นตันละ 13,000 บาท เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับของชาวนา และราคาข้าวตกต่ำที่ตันละ 6,000-7,000 บาท
 
คำชี้แจง
        โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เป็นนโยบายที่ไม่บิดเบือนราคาตลาด เป็นการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร กำหนดวงเงินสินเชื่อร้อยละ 90 ของราคาตลาดในราคา 9,500 บาทต่อตัน แต่สถานการณ์ข้าวในช่วงที่ คสช. และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ เช่น แอฟริกา ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันลดต่ำลง รวมถึงมีนโยบายเพิ่มผลผลิตเพื่อพึ่งพาตนเอง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวโลกเพิ่มสูงขึ้น ราคาข้าวสารในตลาดโลกปรับตัวลดลง อีกทั้งสต๊อกข้าวเก่าจากโครงการรับจำนำที่มีปริมาณมากกดทับราคาตลาด ส่งผลให้ราคาตลาดโลกปรับตัวลดลง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ให้มีค่าใช้จ่ายในการตากข้าวเปลือกและค่าแรงงานในการเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ จึงให้ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก 1,500 บาทต่อตัน และช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาทต่อตัน รวมเกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 13,000 บาท ซึ่งจากการสำรวจเกษตรกรมีความพอใจ เนื่องจากมีรายได้คุ้มกับต้นทุนการผลิต
        อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ราคาตลาดข้าวในประเทศมีเสถียรภาพ ผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยการปรับตัวลดลงของราคาข้าวในประเทศ อัตราปรับตัวลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่าราคาตลาดโลกอย่างชัดเจน
 
ข้อกล่าวหา
        รัฐบาลชี้นำให้สังคมเข้าใจผิดในประเด็นขาดทุนจากการจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท


คำชี้แจง
        โครงการรับจำนำที่ผ่านมา มีการกำหนดนโยบายการรับซื้อข้าวที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ไม่สามารถระบายข้าวได้ตามต้นทุนที่ซื้อมา ทำให้เกิดภาระขาดทุน อีกทั้งการเก็บรักษาข้าวเป็นระยะเวลานาน ทำให้คุณภาพและราคาข้าวลดลงตามระยะเวลาที่เก็บรักษา ต่อมาได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาปิดบัญชี และมีแนวโน้มว่าการขาดทุนจากโครงการรับจำนำน่าจะสูงขึ้นไปจากเดิม เพราะข้าวเสื่อมสภาพจากการเก็บรักษาที่ยาวนาน อีกทั้งมีการตรวจพบการทุจริตของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ  

         ทั้งหมดนี้ คือ ข้อกล่าวหา และคำชี้แจง ซึ่งพอที่จะฉายภาพให้เห็นว่า "ใครเป็นผู้ทำลายชาวนา ใครเป็นผู้ทำลายตลาดข้าว" 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง