​“เพื่อนมาก่อนธุรกิจ เป็นเพื่อนกันแล้ว ธุรกิจจะตามมาเอง” คีย์เวิร์ดความสำเร็จของ YEN-D โครงการดีๆ ที่อยากแนะนำให้รู้จัก

img

วันนี้ หากจะถามถึงโครงการในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในผลักดันให้เกิดการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านในตลาด  CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีโครงการอะไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้น จะไม่พูดถึงโครงการ YEN-D หรือที่มีชื่อเต็มว่า Young Entrepreneur Network Development Program ก็คงไม่ได้ เพราะโครงการนี้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก และเข้ามาร่วมฝึกอบรม จนถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความนิยมมากสุดโครงการหนึ่งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ 
         
เพราะวันนี้ คนที่จะมีสิทธิได้เข้ามาเรียนรู้ในโครงการ YEN-D มีสัดส่วนผู้สมัครไม่มาก ไม่น้อย สมัครมา 100 คน จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นสมาชิก YEN-D ได้เพียงแค่ 1 คน ประเภทเด็กท่าน เด็กฝาก เด็กนาย ไม่มีหลุดรอดเข้ามา เรียกว่า คนที่ผ่านเข้ามาสู่หลักสูตรได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติครบเครื่องจริงๆ ไม่เจ๋งจริง ไม่ผ่านการพิจารณา
         
หากถามว่า แล้วที่มาที่ไปของโครงการนี้ มีวิวัฒนาการความเป็นมาอย่างไร อะไรคือจุดเริ่มต้นของโครงการ ลองมาฟังที่มาที่ไปจากปากของผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นคีย์แมนหลักของโครงการนี้ คือ “นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นโครงการ และเป็นผู้กำกับโครงการ เรียกว่า ถ้าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ก็ทำทั้งเขียนบท คัดดารานักแสดง และกำกับเอง แถมมีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ทั้งจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง 
         
นายอดุลย์เล่าถึงที่มาที่ไปว่า โครงการนี้เป็นดำริของผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์และเพิ่มยอดการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดCLMV เพราะเห็นว่าเป็นตลาดใกล้ชิดกับไทย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีสูง น่าจะเป็นโอกาสสำหรับไทยได้ดี ก็เลยอยากให้มีการจัดทำโครงการขึ้นมาสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการบุกเจาะตลาด CLMV 
         
ประกอบกับภาคเอกชน โดยนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอว่ากระทรวงพาณิชย์น่าจะทำโครงการที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจไทยกับเพื่อนบ้าน เพราะมีโอกาสค้าขาย ลงทุนระหว่างกันจริงๆ ก็เลยเป็นเรื่องที่เห็นสอดคล้องกัน
         
“จากนั้นก็มาคิดกันว่าจะทำโครงการอะไรกันดี เพราะผู้บริหารก็ไฟเขียวมาแล้ว ก็เลยไปคุยกับสถาบันการศึกษา เพื่อคิดโครงการ คุยกันทั้งหมด 3 มหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดท้ายมาคลิกกันที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในการฝึกอบรมจนถึงทุกวันนี้”
         
นายอดุลย์ขยายความต่อว่า เริ่มแรกให้เจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญมาคุยกัน มีการเสนอทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการไทย แต่มองแล้ว เป็นการทำงานรูปแบบเดิมๆ ก็เลยไม่เอา ไม่ใช่ว่าจุฬาฯ ไม่เก่ง แต่เราอยากฉีกแนวไปจากเดิม จากนั้นไปคุยกับมหาวิทยาลัยมหิดล ไปคุยกับสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ ก็เชิญทีมอาจารย์มาคุย แต่ก็ยังมองว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ว่ามหิดลไม่เก่ง เขาเก่ง แต่อย่างที่บอก เราอยากฉีกแนว สุดท้ายลองติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าอยากทำโครงการที่ฉีกแนว เน้นความเป็นเพื่อน มากกว่าการฝึกอบรมให้ความรู้ ทางธรรมศาสตร์ก็เสนอโครงการมา ทำเพาเวอร์พ้อยท์เสนอโครงการมา เห็นบุ๊ปก็บอกเลยว่าใช่  
         
พอได้ธรรมศาสตร์มาร่วมทำงาน ก็ร่วมกันจัดทำหลักสูตร คิดกันว่า ต้องการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ก็เลยต้องกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่จริงๆ กำหนดเลยอายุต้องไม่เกิน 45 ปี เป็นเจ้าของกิจการหรือทายาทเจ้าของกิจการ ถ้าอายุเกินกว่านี้ไม่รับ เพราะแก่แล้ว พอเริ่มรับสมัคร ได้มาจริงๆ อายุเฉลี่ยแค่ 30 กว่าๆ เท่านั้น
         
“เราตั้งคอนเซ็ปต์ไว้เลยว่า โครงการนี้ จะเน้นการสร้างความเป็นเพื่อน เพื่อนมาก่อนธุรกิจ เป็นเพื่อนกันแล้ว ธุรกิจจะตามมาเองเพราะฉะนั้น ตอนที่ฝึกอบรม เราฉีกแนวจากหลักสูตรที่เคยมีมาทั้งหมด ไม่เน้นวิชาการ แต่เน้นให้รู้จักกัน หาอะไรให้ทำกันเป็นทีม หาอะไรให้เล่น แป๊บเดียวก็รู้จักกันหมด”นายอดุลย์บอก
         
นายอดุลย์เล่าต่อว่า ตอนที่ทำโครงการแรกๆ คนเขาเห็นเราจัดให้ผู้ประกอบการที่มาฝึกอบรม เล่นโน่น เล่นนี่ แข่งกีฬากันบ้าง แข่งเกมกันบ้าง คำถามตอนนั้นมีเยอะ คุณกำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่จัดกีฬาสีนะ เราก็ยังจัดกันต่อ เพราะคอนเซ็ปต์เรา คือ เน้นการสร้างเพื่อน หลักสูตรเรา มาเจอกัน 4-5 วัน ทำกิจกรรมกันทุกวัน เริ่มหลักสูตรทุกวันที่ 9 โมงเช้า กว่าจะจบโน่น 5 ทุ่ม ถามว่าทำอะไรกัน ก็เล่นบ้าง เรียนบ้าง ตกเย็นก็เฮฮาปาร์ตี้ กิน เล่น ร้องเพลง เป็นแบบนี้
         
เมื่อถามว่า แล้วจะเอาเวลาไหนไปเจรจาทำธุรกิจกัน ก็อย่างที่บอก เวลาเล่น ก็เล่น เวลาจริงจัง เราก็มี เราเปิดโอกาสให้แต่ละคนแนะนำธุรกิจของตัวเอง ใครสนใจจะทำอะไร ก็ไปติดต่อกันหลังจากนั้น ซึ่งมันได้ผลมาก เพราะหลังจากนั้น มีการค้าขายกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
         
“วันนี้เราทำมาแล้ว 3 รุ่น มียอดค้าขายกันเกิดขึ้นแล้ว เท่าที่เก็บสถิติได้ ก็ประมาณ 2,000 กว่าล้าน แต่ที่เก็บไม่ได้ก็อีกเยอะ แล้วยังมีการลงทุน ร่วมกันทำโน่นทำนี่ ผมว่ายังจะมีเกิดขึ้นอีกมาก”
         
นายอดุลย์เล่าต่อว่า โครงการของเรา ไม่ใช่เรียนจบแล้วจบเลย ยังมีการทำกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุด สมาชิก YEN-D ก็เพิ่งจัดกิจกรรมนำสมาชิกYEN-D ทั้ง 3 รุ่น ไปโรดโชว์ที่กัมพูชา ไปพบปะสังสรรค์กัน ไปเจรจาธุรกิจกัน ไม่ใช่แค่รุ่นใครรุ่นมัน แต่เครือข่ายมันขยายวงกว้าง ตอนนี้มาเจอกันหมดทั้ง 3 รุ่น มีการติดต่อค้าขายกันข้ามรุ่น สร้างเครือข่ายขยายครอบคลุมกันไปหมด ตอนไปมีการตกลงค้าขายกันทันทีกว่า 200 ล้าน ส่วนก่อนหน้านี้ ไปสปป.ลาว ตกลงซื้อขายกันได้กว่า 150 ล้าน และเดือนมิ.ย.จะไปเมียนมา คาดว่าจะมีการตกลงซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 100-200 ล้านเช่นกัน
         
หากถามต่อว่า โครงการนี้จะจบเพียงแค่นี้ หรือยังเดินหน้าต่อ แต่เดิม เราอยากให้เป็นของขลัง แบบว่า ทำ 3 รุ่นแล้วจบเลย ปิดโครงการไปเลย แต่ตอนนี้ มันไม่ใช่แล้ว โครงการมันไปไกลกว่านั้น เป็นสัญลักษณ์ไปแล้ว จะหยุดก็หยุดไม่ได้ ก็ต้องไปต่อ คงจะมีรุ่น 4 รุ่น 5 รุ่นต่อๆ ไป แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือ เราจะไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์ คือ การสร้างเพื่อน เพระเพื่อนจะนำธุรกิจมาให้

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง