​ใครจะไปคิด สินค้าบ้านๆ วันหนึ่งมีโอกาสส่งออก “ป้าติ่ง”เปิดใจทำแบบนี้ได้ เพราะ SMEs Pro-active

img

สุภาษิตโบราณที่ว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน” นำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่แค่ใช้ในเรื่องการเรียนรู้ แม้แต่ในเรื่องการทำธุรกิจ ก็นำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน โดยมีตัวอย่างให้เห็นว่าคนอายุ 60+ ไม่ได้ถือว่าช้าในการทำธุรกิจ และยิ่งเป็นธุรกิจส่งออก บางคนก็ว่า แทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้ แต่วันนี้ เป็นไปแล้ว และประสบความสำเร็จได้จริง เพียงแค่เรียนรู้ให้ถูกช่องทาง
         
ย้อนกลับไปช่วงการจัดงาน STYLE BANGKOK ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนต.ค.2561 ที่ผ่านมา มีสินค้าที่นำไปจัดแสดงมากมายทั้งสินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เครื่องหนัง ของตกแต่งบ้าน และอื่นๆ มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานมากกว่า 2,000 บูธ แต่ที่น่าสนใจ คือ หนึ่งในนั้นมีกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่วัยเก๋า ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการพัฒนาตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ (60+) รวมอยู่ด้วย


         
คนอายุ 60+ ที่ว่า เป็นใครมาจากไหน แล้วทำไมถึงได้มีโอกาสในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และมีโอกาสในการส่งออก ตามไปฟังที่มาที่ไปจากนางณัชรัตน์ ชุมพานิชวศุตม์ หรือป้าติ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท จุลณัฐ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์รักษ์บาติก (RUKBATIK) หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ 60+ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกันดู
         
ป้าติ่งเล่าให้ฟังว่า ตัวเองเริ่มต้นเป็น SMEs เมื่ออายุ 60 ปี หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยได้เข้าร่วมอบรมความรู้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการนำเข้าและส่งออกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดที่อยากจะทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก จึงได้ผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ผ้าฝ้ายบาติกสีธรรมชาติ โดยการวาดลวดลายศิลปะล้านนาผสมผสานกับศิลปะสากลด้วยการเพ้นท์สีจากสมุนไพรด้วยมือ จนกลายเป็นศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ที่สวยงาม และมีลวดลายเอกลักษณ์เฉพาะผืนด้วยสีสันที่เป็นธรรมชาติ และยังเพิ่มนวัตกรรมกลิ่นหอมจากสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
         
ผลงานที่ป้าติ่งทำ ได้รับการการันตีโดยได้รางวัลอีกมากมายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น 1.รางวัลชนะเลิศ Most Innovation OTOP Award 2018 งาน OTOP IGNITE 2.รางวัล Chiang Mai Heritage 20173.รางวัล OTOP 5 ดาว ประเภทผ้า เครื่องแต่งกายปี 2016 และ 4.รางวัล Cultural & Wisdom talent awards 2016 เป็นต้น  
         
ส่วนที่มาที่ไปของการเปิดตลาดส่งออก ป้าติ่ง บอกว่า เป็นเพราะกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ให้แรงบันดาลใจและความรู้ ตั้งแต่การอบรมการส่งออก ขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ของการส่งออกไปต่างประเทศ สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ว่าการส่งออกไม่ยากอย่างที่คิด และเมื่อถึงขั้นอยากส่งออกจริง แต่ไม่มีเงินทุน จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถออกไปทำตลาดต่างประเทศได้ ถ้าคุณตั้งใจจริง
         
ป้าติ่ง เล่าถึงโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่เขามีไว้เพื่อช่วยส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ก็เข้าร่วมได้ แค่คุณต้องทำให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด แล้วสิ่งที่โครงการช่วย มีมากมาย ทั้งเงินทุนสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ กิจกรรมที่สร้างโอกาสทางการค้า หรือการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ
         
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องสมัครเข้าร่วมงานด้วยตนเอง โดยเลือกตามกลยุทธ์การตลาดและความต้องการของตนเอง หรือเลือกเข้าร่วมงานที่สอดคล้องกับประเภทสินค้าและธุรกิจบริการของตนเองก็ได้ โดยจะได้รับวงเงินสนับสนุนสูงสุดรายละ 200,000 บาทต่อครั้ง
         
ส่วนขั้นตอนการติดต่อ ให้สมัครได้ที่สภาที่ท่านเป็นสมาชิก ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย แต่ถ้ายังมีข้อสงสัย สอบถามตรงไปได้เลยที่สำนักยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ โทร 02-507-7783 หรือ 02-507-7786 มีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูล และข้อชี้แนะอยู่

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง