สถาบันอัญมณีฯ ปั้นสมาร์ท จิวเวลเลอร์ ช่วยผู้ผลิตท้องถิ่นพัฒนาสินค้า ขายออนไลน์ ลุยโค้งสุดท้ายปีนี้ 5 จังหวัด

img

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือเรียกชื่อสั้นๆ ว่าสถาบันอัญมณีฯ หรือชื่อย่อ จีไอที เป็นองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยล่าสุดได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก “นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการจีไอที ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการทำงาน และแผนการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการท้องถิ่นในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณนี้ 

นางดวงกมลเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการว่า เดิมทีจีไอทีมีโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น มีเป้าหมายใน 15 จังหวัด 6 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน แพร่ สุโขทัย นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ จันทบุรี ตราด ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ภูเก็ต พังงา และ สตูล โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการมาแล้ว 10 จังหวัด สามารถช่วยผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีการพัฒนาพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย จนสามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้แล้ว และหลายๆ รายสามารถขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ

“ตอนนี้ เป็นโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ ยังเหลืออีก 5 จังหวัดที่เรายังไม่ได้ลงไป ก็จะใช้เงินก้อนนี้ที่ได้รับจากรัฐบาลเข้าไปดำเนินการ จะเข้าไปอบรม ให้ความรู้ แนะนำการผลิต ที่ต้องตามเทรนด์ตลาดและเทคนิคใหม่ๆ ให้ทัน ช่วยในการทำตลาด เพราะจะค้าขายแบบเดิมไม่ได้แล้ว ยิ่งตอนนี้ออนไลน์บูม ก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ก็สามารถขายสินค้าได้”

สำหรับ 5 จังหวัดที่จีไอทีจะลงไป คือ แพร่ เพชรบุรี สุรินทร์ ตราด และสตูล โดยเป้าของเรา จะเข้าไปพัฒนาให้คนที่ผลิตเครื่องประดับใน 5 จังหวัดเหล่านี้เป็น “สมาร์ท จิวเวลเลอร์” ไม่ใช่สักแต่ผลิตตามรูปแบบเดิมๆ ตามที่เคยชิน แต่ต้องออกแบบเป็น ตามเทรนด์เครื่องประดับโลกให้ทัน แล้วนำมาใช้ในการผลิตสินค้า แต่ต้องไม่ทิ้งอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีอยู่เดิม ซึ่งหากทำได้ตามนี้ เราจะสามารถสร้างสมาร์ท จิวเวลเลอร์ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้อีกมาก

นางดวงกมลบอกว่า แผนของเรา ได้ตั้งเป้าที่จะเข้าไปฝึกอบรมผู้ผลิตท้องถิ่นจำนวน 500 ราย คนเหล่านี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เทคนิคการออกแบบ การเพิ่มช่องทางค้าขายทางออนไลน์ทั้งผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก และจากนั้นจะคัดพวกที่ควิกวิน (ผู้ผลิตที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้ทันที) ตั้งเป้าเอาไว้ 30 คอลเล็กชั่น โดยเลือกเอาจากผู้ผลิตที่มาอบรมกับเรานี่แหละ แล้วเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้า ออกแบบสินค้า เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่าย เมื่อผลิตเป็นสินค้าออกมาได้แล้ว ก็จะเอาไปโชว์ในงานแสดงสินค้า โชว์ที่สถาบันอัญมณีฯ และช่วยเขาสร้างเว็บ ทำเฟซบุ๊ก เพื่อขายทางออนไลน์ แล้วยังจะผลักดันเข้าไปจำหน่ายในเว็บไซต์ออนไลน์ที่พาณิชย์มีอยู่ ทั้งเว็บของดีทั่วไทย ต่อไปถ้าเด่นๆ ขึ้น ก็จะผลักเข้าไทยเทรดดอทคอม เพื่อขายออกต่างประเทศ

“ที่สำคัญ ที่สถาบันอัญมณี เราจะทำเป็นป๊อบอัพสโตร์ เป็นพื้นที่จัดโชว์สินค้าที่เราไปพัฒนามา ทำทั้งโชว์ ทั้งขาย ถ้าผลตอบรับดี จะทำเป็นร้านถาวรด้วย”

สำหรับรายละเอียดและจุดเด่นในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของ 5 จังหวัดเป้าหมายที่จะลงพื้นที่ นางดวงกมล อธิบายว่า อย่างสุรินทร์ เก่งเรื่องเครื่องเงิน ถ้าไม่มีงานโอทอปให้นำสินค้าไปขาย ต่อไปคนผลิตก็ลดน้อยและอาจสูญหายไปได้ เพชรบุรี เก่งเรื่องทอง เป็นทองโบราณ ทำลายโบราณ คนทำส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากจีน ทำทองโบราณสไตล์จีน ตอนนี้มีช่างเหลือแค่ 10 กว่าคน ต้องเข้าไปช่วย เพราะลูกหลานไม่อยากทำ ถ้าเราลงไปผลักดันให้เป็นสมาร์ท จิวเวลเลอร์ ก็จะทำให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ยังคงอยู่ ที่สตูล เก่งเรื่องเครื่องประดับมุก ไข่มุก ก็จะเข้าไปช่วยสร้างจุดเด่น ที่แพร่ เด่นเรื่องพลายสี มีสายแร่โบราณ เข้าไปสร้างจุดขายได้ และที่ตราด เด่นเรื่องพลายสี และเครื่องประดับตกแต่งจากพลอยสี สามารถที่จะพัฒนาได้เช่นเดียวกัน

“ในการลงพื้นที่ เราไม่เพียงแค่ไปปั้น ไปสร้างสมาร์ท จิวเวลเลอร์ เรายังมีแผนเชื่อมโยงให้แหล่งผลิตเหล่านี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แล้วทำการโปรโมต เพื่อดึงดูดให้คนไปเที่ยว ไปดูครูช่าง ไปดูวิธีการผลิต ดูงานฝีมือ ไปเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำเครื่องประดับ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้แน่ เพราะคนที่ไปเที่ยว จะมีการจับจ่ายใช้สอย และสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตเพิ่มขึ้น”

นางดวงกมลกล่าวสรุปว่า ถ้าเราสามารถทำให้เกิดสมาร์ท จิวเวลเลอร์ได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เครื่องประดับท้องถิ่นยังคงอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ๆ อยากจะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้กันมากขึ้น เพราะรูปแบบการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป เราจะเข้าไปช่วยออกแบบ ช่วยพัฒนาสินค้า ช่วยหาช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผลักดันให้แหล่งผลิตเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งรูปแบบๆ นี้ เป็นโมเดลการทำธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งจะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ๆ หันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้กันมากขึ้น

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว้ ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง