จากปลูกตามมีตามเกิด หวังแค่ให้ลูกหลานได้กินข้าวปลอดสารพิษ มาวันนี้ ช่วยสร้างงาน สร้างเงิน และเลี้ยงครอบครัวได้

img

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 กรมการค้าภายใน ได้จัด “งานตัดสินและมอบรางวัลการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย การประกวดข้าวตราคุณภาพดีเด่น ประจำปี 2561 การประกาศเกียรติคุณข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ และโรงสีติดดาวประจำปี 2561” เพื่อมอบรางวัลให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร โรงสี และผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง ที่มีคุณภาพมาตรฐาน
         
ในการจัดงานปีนี้ มีผู้เข้าร่วมรับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 116 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิจำนวน 18 ราย กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรชนะการประกวดข้าวหอมมะลิจำนวน 3 กลุ่ม โรงสีที่ชนะการประกวดข้าวตราคุณภาพดีเด่นจำนวน 10 ราย และผู้ผลิตข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจำนวน 29 ราย ตลอดจนโรงสีติดประเภทดาวทองของกระทรวงพาณิชย์จำนวน 56 ราย
         
ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้สนับสนุนรถแทรกเตอร์ เพื่อเป็นรางวัลชนะเลิศให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
         
ในการประกาศผลการตัดสินครั้งนี้ ที่น่าสนใจ ก็คือ รางวัลเกษตรกรรายบุคคล โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นายสงวน มณีรัตน์” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จาก ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งนายสงวนจะได้รับรางวัลเป็นรถไถ เงินสด และโล่ประกาศเกียรติคุณรวมเป็นมูลค่า 2.8 แสนบาท
         
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายสงวนถึงที่มาที่ไปของการหันมาเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์จนมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร ซึ่งนายสงวนเล่าให้ฟังว่า เดิมทีก็เป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไปเหมือนคนอื่นๆ นี่แหละ แต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีเกษตรอำเภอจัดอบรมความรู้เรื่องการปลูกข้าวอินทรีย์ ก็ทำเลย ทำมาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ก็ราวๆ 10 ปีแล้ว
         
“ผมทำตอนแรก ทำเพื่อบริโภค ทำกินเอง อยากให้ลูกหลานได้กินข้าวปลอดสารพิษ ถ้าเหลือกิน ก็เอาไปขาย แล้วผลผลิตที่ขายได้ก็ราคาดีกว่าข้าวในท้องตลาดปกติ เพราะของผมเป็นข้าวอินทรีย์”
         
นายสงวนเล่าต่อว่า ทำไปทำมา ในอำเภอ ในจังหวัด ก็มีการจัดประกวดคุณภาพข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ผมก็ส่งไปประกวด ได้ที่ 1 บ้าง ที่ 2 บ้าง หรืออย่างการประกวดในงานเทศกาลปลาไหล ข้าวใหม่หอมมะลิ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผมก็ส่งข้าวเข้าไปประกวด ก็มีคนมาขอซื้อข้าวเปลือกเอาไปปลูกเป็นจำนวนมาก มาขอซื้อจนกระทั่งผมแทบไม่เหลือเอาไว้ปลูกเลยก็มี
         
พอประกวดชนะมาเรื่อยๆ เขา (จังหวัด) ก็ส่งผมมาประกวดในระดับประเทศ มาประกวดในงานที่กระทรวงพาณิชย์จัดในครั้งนี้ ก็ได้รับรางวัลที่ 1 ถามว่าภูมิใจมั้ย ก็ต้องบอกว่าภูมิใจ ที่เป็นคนปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในคนได้กิน
         
ส่วนผลผลิตที่ทำได้ในแต่ละปี ก็มีไม่มาก ผมทำอยู่ 13-14 ไร่ ได้ผลผลิต 7-8 ตันต่อไร่ต่อปี ผลผลิตที่ได้ไม่พอขายนะ มีโรงสีมาซื้อถึงที่ เป็นโรงสีที่กระทรวงพาณิชย์เขาติดต่อมาให้ ผลิตได้เท่าไร เขาซื้อหมด เขาบอกว่า เป็นการหาตลาดมารองรับผลผลิตให้ ถ้าของดีจริง ผลิตมาเถอะ มีที่ขายแน่นอน
         
แล้วเรื่องราคา ผมขายได้ดีกว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทั่วไป 2-3 บาทต่อกิโลกรัม หรือตันละ 2,000-3,000 บาท ถามว่าดีมั้ย ก็ดี เพราะผมไม่มีต้นทุนอะไร ปุ๋ยผมก็ทำเอง ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ทุกอย่างในการเพาะปลูกใช้วิธีธรรมชาติหมด ประหยัดต้นทุนไปได้เยอะ ทำได้เท่าไร ก็กำไรล้วนๆ
         
สำหรับคำถามที่ว่า ผมได้แนะนำหรือบอกเกษตรกรรายอื่นยังไง ผมก็บอกนะ บอกเขาทุกปี แนะนำกันทุกปี บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ บางคนอยากทำ แต่พอบอกต้องใช้เวลานะ ก็ไม่เอา เขาบอกไม่เหมือนใส่ปุ๋ย ใส่แล้วเห็นผล แต่ก็ยังดีที่มีคนเชื่อ มีคนที่ชอบสันโดษเหมือนผม ก็มาทำกัน ผมก็บอก ทำแรกๆ อาจจะยังไม่ดี แต่ต่อไป ดีแน่นอน ก็อยากจะฝากถึงเกษตรกร ที่อยากหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ตอนแรกอาจจะลำบากหน่อย แต่ระยะยาว ดีแน่ ของทำออกมาเท่าไร ไม่พอขาย ตอนนั้น จะทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวได้อย่างถาวร และมั่นคง

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง