​EFTA ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไทย-ยุโรป

img

ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา มี “ข่าวดี” สำหรับประเทศไทย ก็คือ การประกาศ “ความสำเร็จ” การเจรจา “ความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)” ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
         
ที่ว่าประสบความสำเร็จ ก็คือ FTA ฉบับนี้ เป็น “FTA ฉบับแรก” ที่ไทยทำกับ “ประเทศในยุโรป” เพราะก่อนหน้านี้ ไทยยังไม่เคยทำ FTA กับประเทศในยุโรปชาติใดเลย  
         
แต่ก่อนที่จะมาถึงความสำเร็จในครั้งนี้ ต้อง “ย้อนกลับไป” เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 ที่ไทยและ EFTA ได้ประกาศ “นับหนึ่ง” การเจรจา FTA ที่ “ร้านอาหารเอ็งแลนดิงกาวิก” เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์
         
ครั้งนั้น ถือเป็น “วันประวัติศาสตร์” ที่ 2 ฝ่ายสามารถประกาศเริ่มต้นการเจรจา FTA ระหว่างกันได้ เพราะการทำ FTA ไทย-EFTA ใช้เวลาพูดคุยกัน “ว่าจะทำ ๆ” ยาวนานมาก ร่วม ๆ 20 ปีได้  
         
การพูดคุยในวันนั้น “ตั้งเป้า” เอาไว้ว่า จะเจรจากันให้จบภายใน 2 ปี
         
ต่อมา ก็เริ่มต้นคุยกันไป คุยกันมา ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ไทยที ประเทศใน EFTA ที สุดท้ายก็ “ปิดดีล” กันได้
         
สำหรับ “ข้อสรุป” การเจรจาทำ FTA มีทั้งสิ้น 15 เรื่อง ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า 7.การค้าบริการ 8.การลงทุน 9.ทรัพย์สินทางปัญญา 10.การแข่งขัน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงาน) 13.ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 14.ประเด็นกฎหมายและการระงับข้อพิพาท และ 15.วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)
         


ขั้นตอนต่อไป “กระทรวงพาณิชย์” โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะนำ “ผลการเจรจา” เสนอต่อ “คณะรัฐมนตรี (ครม.)” เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเตรียมการลงนาม FTA ร่วมกับประเทศสมาชิก EFTA ในช่วงเดือน ม.ค.2568 ในโอกาสที่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” และ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” จะเดินทางเข้าร่วม “การประชุม World Economic Forum (WEF)” ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
         
จากนั้น “รัฐบาล” โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอความตกลงฉบับนี้ ต่อ “รัฐสภา” เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนที่ประเทศไทยจะให้ “สัตยาบัน” เพื่อให้ความตกลงมีผล “บังคับใช้” และ “เกิดประโยชน์” ต่อ “เศรษฐกิจของไทย” อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
         
หากถามถึง “ประโยชน์” ที่จะเกิดขึ้น จากการทำ FTA ฉบับนี้ มีข้อมูลที่เป็นผลการศึกษาของ “สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)” พบว่า ทั้ง “จีดีพี-การส่งออก-รายได้เกษตรกร” จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
         
ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็ “สินค้าเนื้อไก่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ” ที่จะส่งออกได้มากขึ้น จาก “ภาษี” ที่จะลดต่ำลง หรือไม่มีเลย ขณะที่ “การลงทุน” ไทยจะดึงดูดนักลงทุนจาก EFTA เข้ามาไทยได้มากขึ้น
         
นายพิชัย บอกว่า FTA ฉบับนี้ ถือเป็น “หน้าใหม่” ของ “ประวัติศาสตร์การค้าไทย” เพราะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในยุโรป โดยเป็น FTA ที่มีความทันสมัย มาตรฐานสูง สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
         


FTA ฉบับนี้ ใช้เวลาการเจรจาตามเป้าหมาย 2 ปี นับจากเริ่มต้นเมื่อปี 2565 และยังถือเป็นความสำเร็จตาม “นโยบายรัฐบาล” ที่ให้ความสำคัญกับการเร่ง “ขยายโอกาส” ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านการทำ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกธุรกิจ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับประเทศคู่ค้าร่วมกัน
         
ความสำเร็จ” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากนโยบายรัฐบาลชัดเจน ที่พุ่งเป้าการทำ FTA ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังต้อง “ชื่นชม” ทีมงานเจรจา ที่นำโดย “นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์” และ “น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” และ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ซึ่งเคยเป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และเป็นผู้ที่ได้ไปร่วมประกาศนับหนึ่งการเจรจา รวมไปถึง “ทีมเจรจา” ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และทีมเจรจาของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ทำงานกันอย่างหนัก จนทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จในครั้งนี้  
         
ถือเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้กับคนไทย นักธุรกิจไทย ที่จะเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน กับ 4 ประเทศในยุโรปได้มากยิ่งขึ้น

ส่วน FTA ไทย-อียู ที่เป็น FTA ใหญ่อีกฉบับหนึ่ง ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา และยัง “ไม่จบ” แต่ได้ตั้งเป้า “ปิดดีล” เอาไว้ปี 2568

ถ้า “ทำสำเร็จ” ไทยก็จะมี FTA กับชาติในยุโรปแบบครอบคลุม

ตอนนั้น การค้า การลงทุน ความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศในสหภาพยุโรป คงจะดีกว่านี้

ตั้งหน้าตั้งตารอได้เลย เชื่อว่า อีกไม่นาน น่าจะจบ
         
ตอนนี้ “ขอร่วมฉลอง” ให้กับ “ความสำเร็จ” การ “ปิดดีล” FTA ไทย-EFTA ไปพลาง ๆ ก่อน

ยินดีกับ "กระทรวงพาณิชย์" ด้วย 
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง