
ในที่สุด “กระทรวงพาณิชย์” ก็ทำคลอด “มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568” ออกมาแล้ว มีทั้งสิ้น 7 มาตรการ 25 แผนงาน ถือว่าแผนมา “ไม่เร็ว-ไม่ช้า” จนเกินไป เพราะ “ผลผลิตผลไม้” จะเริ่มต้นออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน เม.ย.2568 เป็นต้นไป
พร้อมกับ “ตั้งเป้า” และ “หวัง” ให้ปีนี้ เป็น “ปีทอง” สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้อีกปีหนึ่ง ที่จะขายผลไม้ได้ราคาดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น
ปี 2568 ผลผลิตผลไม้สำคัญ 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะม่วง สับปะรด มังคุด ส้มเขียวหวาน เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ เพิ่มขึ้นทุกรายการ คาดว่า จะมีประมาณ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15%
ยกตัวอย่างเช่น “ทุเรียน” เพิ่มขึ้นมากสุด ผลผลิต 1.767 ล้านตัน เพิ่ม 37% รองลงมา “ลำไย” 1.456 ล้านตัน เพิ่ม 1% “มะม่วง” 1.306 ล้านตัน เพิ่ม 10% “สับปะรด” 1.343 ล้านตัน เพิ่ม 17% และ “มังคุด” 2.79 แสนตัน เพิ่ม 2% ทั้งนี้ ในส่วนของลำไย อาจจะต้องมีการประเมินผลผลิตอีกครั้ง คาดว่า จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1.6-1.7 ล้านตัน เพิ่ม 10%
สำหรับผลไม้ ที่จะออกสู่ตลาด เริ่มจาก “มะม่วง” ออกมากช่วง เม.ย. 33% พ.ค.-มิ.ย. 26% “ทุเรียน” ออกมากช่วง เม.ย.-มิ.ย. 57% ก.ค.-ส.ค. 17% “มังคุด” ออกมาก เม.ย.-มิ.ย. 58% ก.ค.-ส.ค. 19% “เงาะ” ออกมาก เม.ย.-มิ.ย. 65% ก.ค.-ส.ค. 18% “ลิ้นจี่” ออกมาก พ.ค.-มิ.ย. 80% “สับปะรด” ออกมาก พ.ค.-มิ.ย. 25% พ.ย.-ธ.ค.16% “ลองกอง” เริ่มออก มิ.ย.-ส.ค. 13% ออกมาก ก.ย.-ต.ค. 73% “ลำไย” ออกมาก ก.ค.-ส.ค. 38% พ.ย.-ธ.ค.23% “ส้มเขียวหวาน” ออกมาก พ.ย.-ธ.ค. 70%
ผลผลิตผลไม้ทั้งหมด 6.736 ล้านตัน จะส่งออก 74% เป็นการส่งออกแบบสด 62% แปรรูป 38% และบริโภคในประเทศ 26% เป็นการบริโภคแบบสด 73% แปรรูป 27%
แยกเป็นรายชนิด “ลำไย” ส่งออกมากถึง 91% บริโภคในประเทศ 10% “มังคุด” ส่งออก 82% บริโภคในประเทศ 18% “สับปะรด” ส่งออก 78% บริโภคในประเทศ 22% “ทุเรียน” ส่งออก 75% บริโภคในประเทศ 25% “ลิ้นจี่” ส่งออก 20% บริโภคในประเทศ 80% “มะม่วง” ส่งออก 16% บริโภคในประเทศ 84% “ลองกอง” ส่งออก 15% บริโภคในประเทศ 85% “เงาะ” ส่งออก 8% บริโภคในประเทศ 92% และ “ส้ม” ส่งออก 1% บริโภคในประเทศ 99%
ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกผลไม้ทั้งแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 6,510.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 231,401 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.6% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย และเฉพาะผลไม้สด มีมูลค่า 5,149.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 183,823 ล้านบาท
หากเจาะลึกลงไป พบว่า “ทุเรียน” ส่งออก 859,183 ตัน มูลค่า 3,755.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 134,852 ล้านบาท สัดส่วน 72.9% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย “ลำไย” ส่งออก 527,927 ตัน มูลค่า 571.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 19,698 ล้านบาท “มังคุด” ส่งออก 284,860 ตัน มูลค่า 490.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,573 ล้านบาท “มะพร้าวอ่อน” ส่งออก 257,428 ตัน มูลค่า 217.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,616 ล้านบาท “มะม่วง” ส่งออก 106,753 ตัน มูลค่า 133.09 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,716 ล้านบาท
ในการส่งออกผลไม้สำคัญ พบว่า ตลาดจีน เป็นตลาดหลักของการส่งออก “ทุเรียน-ลำไย-มังคุด-มะพร้าวอ่อน” ยกเว้น “มะม่วง” ที่ตลาดเกาหลีใต้ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
นั่นแสดงว่า หากตลาดจีน “มีปัญหา” การส่งออกผลไม้ไทยในปี 2568 ก็อาจจะ “สะดุด” ได้
แต่ “กระทรวงพาณิชย์” โดย “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว กำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 ออกมาแล้ว มี 7 มาตรการ 25 แผนงาน ตามที่เกร่นไว้ข้างต้น รวมถึงมีแผน “เปิดทางสะดวก” การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนไว้แล้วเช่นเดียวกัน
7 มาตรการ 25 แผนงานที่ว่า สรุปสั้น ๆ ดังนี้ 1.สร้างความเชื่อมั่น มี 4 แผนงาน เร่งตรวจรับรองแปลง GAP สร้างความเชื่อมั่น ตั้งวอร์รูมผลักดันส่งออก และตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจาจีน 2.ส่งเสริมตลาดในประเทศ มี 8 แผนงาน เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า กระจายออกนอกแหล่งผลิต สนับค่าบริหารจัดการ รณรงค์บริโภค สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ โหลดผลไม้ขึ้นเครื่อง คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก และส่งเสริมผลไม้ GI 3.ส่งเสริมแปรรูปและปรับพื้นที่เกษตร มี 2 แผนงาน แปรรูปและสนับสนุนปลูกพืชสวนแทนพืชไร่ 4.ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ มี 4 แผนงาน จัดมหกรรมการค้าชายแดน จัดจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการขาย ร่วมงานแสดงสินค้า 5.ยกระดับผลไม้ มี 3 แผนงาน ประชาสัมพันธ์ ใช้ประโยชน์จาก FTA เจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้า 6.แก้ไขอุปสรรค มี 2 แผนงาน ผ่อนปรนเคลื่อนย้ายแรงงาน สนับสนุนการค้าแยก-ขนย้าย 7.กฎหมาย มี 2 แผนงาน ปิดป้ายราคารับซื้อ ป้องกันกดราคา เอาเปรียบเครื่องชั่ง การฮั้ว
จากมาตรการที่ว่ามาทั้งหมด มี “เป้าหมาย” ช่วยระบายผลผลิตผลไม้ 950,000 ตัน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนตลาดจีน จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดำเนินการภายใต้ “วอร์รูมผลักดันส่งออก-ชุดเฉพาะกิจเจรจาจีน” ที่จะ “ทำงานเชิงรุก” และ “เกาะติด” ทุกประเด็นที่จะคาดว่าเป็นปัญหา
โดยสิ่งที่ทำได้เลย มีแผนลงพื้นที่ไปดู “เส้นทางส่งออกทางบก” โดยรถบรรทุก เส้นทาง R3A จากเชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ทางใต้ของจีน และติดตามการ “ตรวจตู้สินค้า” และดูปัญหา “ความแออัด” ที่หน้าด่าน จะเจรจาให้มีการตรวจปล่อยให้เร็วขึ้น เดิม 7 วัน ตอนนี้เหลือ 3 วัน จะขอให้เหลือวันต่อวัน
นอกจากนี้ ทีมพาณิชย์ยังได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ “ล้งผลไม้-ผู้ส่งออก” ใน จ.จันทบุรี ว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการรองรับผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ที่กำลังจะออกสู่ตลาด พบว่า ทุกฝ่าย “พร้อมแล้ว” ทั้ง “จุดรวบรวม-โรงงาน” และยืนยัน “เข้มงวด” เรื่อง “สารย้อมสี Basic Yellow 2 – BY2” ตกค้าง จะไม่มีหลุดรอด
ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ “กระทรวงพาณิชย์” จะผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการ “รับมือ” กับ “ฤดูกาลผลไม้” ที่กำลังจะ “เริ่มต้น” อย่างเป็นทางการ
ส่วนปีนี้ จะเป็น “ปีทอง” อีกปีหรือไม่ เอาไว้รอสรุปผลช่วงจบฤดูกาล
แต่สิ่งที่ “เรา ๆ ท่าน ๆ” ทำได้ ก็คือ ช่วยกัน “บริโภค” คนละนิดคนละหน่อย เพื่อเป็น “กำลังใจ” ให้กับเกษตรกรได้ “มีเรี่ยว-มีแรง” ปลูกผลไม้คุณภาพดีป้อนเข้าสู่ตลาด และมีส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศได้ต่อไป
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง