
ก็อย่างที่รู้ ๆ กัน ปัจจุบันจีนมีมาตรการห้ามนำเข้า “ทุเรียน” ที่พบสารย้อมสี Basic Yellow 2 (BY2) หากมีการตรวจสอบพบ ก็จะห้ามนำเข้าทั้งหมดทันที ส่งผลให้เกิดความเสียหาย หากยังปล่อยให้ปัญหานี้ยังคงอยู่ต่อไป
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ “การันตี” ว่าจัดการ “ปัญหานี้” จบไปแล้ว แต่จีนก็ยัง “ไม่มั่นใจ” โดยมีการสุ่มตรวจทุเรียนที่นำเข้าจากไทย 100% เหมือนเดิม
ทั้งนี้ แม้ “จังหวัดจันทบุรี” ซึ่งเป็นแหล่งผลิต และส่งออกทุเรียนแหล่งใหญ่ของไทย ได้ “บิ๊ก คลีนนิ่ง” หรือทำความสะอาดสถานที่รวบรวม คัดแยก และส่งออกทุเรียนไปจีนทั้งหมดแล้ว และกรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจสอบการตกค้างในทุเรียนที่ส่งออกไปจีนทุกล็อตแล้วก็ตาม
แต่ในการ “ตรวจสอบ” ที่ผ่านมา จีนยังพบปัญหาสาร BY2 ตกค้าง ไม่ได้หมดไปตามคำคุย คำกล่าวอ้าง เพราะผลการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าสินค้าของจีน ยังพบอยู่ แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ยังมี
สำหรับ “ที่มา” ของสาร BY2 วงการส่งออกผลไม้ และห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้างของไทย ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ปัญหานี้ ยังไม่หมดไปอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำเข้าจีนได้กำหนดให้ต้องมีการชุบสาร BY2 เพื่อให้ทุเรียนมี “สีเหลืองทอง-สวยงาม”
ทำให้เกษตรกรไทย ที่ขาด “ความรู้-ความเข้าใจ” ไม่รู้ว่าสาร BY2 เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ใช้ในการ “ย้อมผ้า กระดาษ หนัง และสีทาบ้าน” ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็น “สารก่อมะเร็ง” และกระทรวงสาธารณสุขของจีนจัดให้เป็นสารที่ “กินไม่ได้” มาตั้งแต่ปี 2551 โดยเข้าใจผิดว่า “ไม่มีอันตราย” เป็นเพียง “ผงขมิ้น” ที่ทำให้ทุเรียนสีเหลืองทองสวยงามจริง จึงยังคงใช้สารนี้ชุบทุเรียนอยู่
นอกจากนี้ การตรวจสอบการ “ตกค้าง” ของ BY2 ของไทย ยังเป็นการ “สุ่มตรวจ” บางล็อต หรือประมาณ 90-95% ของการส่งออกแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ได้ตรวจสอบ “ทุกล็อต” เหมือนที่จีนดำเนินการ
ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2568 ศุลกากรแห่งชาติจีน กำหนดให้ทุเรียนทุกล็อต จากทุกประเทศที่ส่งออกมาจีน ต้องแนบผลวิเคราะห์ BY2 และต้องไม่พบสารนี้ โดยจะตรวจที่ด่านนำเข้าทุกล็อต นำมาซึ่งเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2568 ทุเรียนสด 1 ตู้คอนเทนเนอร์จากไทยที่เข้าจีนผ่านสนามบินนานาชาติอู๋ซวี เมืองหนานหนิง ถูกปฏิเสธการนำเข้า เพราะไม่มีผลวิเคราะห์ BY2 แนบมาด้วย
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว “กระทรวงพาณิชย์” ได้เสนอให้จีน ทั้งเสนอผ่านเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย และในการพบปะหารือกับจีนในเวทีต่าง ๆ เพื่อให้ช่วย “ส่งสาร” ถึงรัฐบาลจีน ขอให้สุ่มตรวจสาร BY2 ในทุเรียน แทนที่จะตรวจสอบทั้ง 100% โดยได้ยืนยันว่า จะทำการตรวจคุณภาพก่อนส่งออกทั้ง 100% ไม่ให้มีสารตกค้าง เป็นการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เพราะหากจีนตรวจทั้ง 100% จะกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทย หากเป็นช่วงฤดูกาลทุเรียน หากการส่งออกติดขัด ก็จะมีปัญหาได้
แม้เรื่องสาร BY2 จะยังไม่ได้ข้อยุติ กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ ได้จัดทีมเดินทางไปสำรวจเส้นทางการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์รองรับฤดูกาลผลไม้ นำทีมโดย “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์”
นายนภินทร ได้เดินทางไปตรวจสอบเส้นทางการขนส่งทุเรียนไทย คือ เส้นทาง เส้น R3A จากเชียงของ ห้วยทราย ผ่านบ่อเต็น เข้าโม่ฮานของจีน และเส้น R12 ซึ่งเป็นเส้นทางผลไม้หลักจากนครพนมเข้าสู่ลาวที่ด่านท่าแขก ผ่านเวียดนามที่ด่านลางเซิน หูหงิ เข้าจีนที่ด่านโหยวอี้กวน รวมทั้งสำรวจเน้นทางขนส่งทางรถไฟลาว-จีน และตรวจสอบท่าบกท่านาแล้ง ที่เป็นจุดขนถ่ายสินค้า ตรวจสอบด่านบ่อเต็น-โม่ฮาน ชายแดนสปป.ลาว-จีน โดยได้หารือขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้สินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลผลไม้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีข่าวว่า ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาสาร BY2 โดยให้หน่วยงานตรวจสอบของจีน เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานและสารตกค้างต่าง ๆ ในไทย ก่อนส่งออกไปจีน ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของทุเรียนไทย
แต่ปรากฏว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่คุมหน่วยงานตรวจสอบไทย อ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย ทำให้เรื่องนี้ยังคาราคาซังกันอยู่ ไม่รู้ว่าจะจบแบบใด
ในฐานะที่ “ผู้เขียน” เห็นการทำงาน เห็นความตั้งใจ ของกระทรวงพาณิชย์ ในการแก้ไขปัญหาสาร BY2 ทั้งการเจรจาให้จีนผ่อนปรนการตรวจสอบ 100% และการส่งทีมไปเคลียร์ทางสะดวกล่วงหน้าก่อนผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด มีเป้าหมายเพื่อให้การส่งออกทุเรียนไทยไปจีนสะดวกที่สุด ง่ายที่สุด
แต่ถ้าจะให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานคนเดียว เดินหน้าลุยคนเดียว ขณะที่ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งเป็นต้นทาง ในการตรวจสอบสาร BY2 ไม่จัดการปัญหาแบบ 100% และทำการ “ตอบสนอง” ความต้องการของ “ลูกค้า” ที่ซื้อทุเรียนไทย
ถ้าจีนอยากให้ตรวจ 100% ก็ต้อง 100% จะตรวจสอบแค่ 90-95% ไม่ได้ เพราะหาก 5% หรือ 10% ที่หลุดไป ดันมีสาร BY2 ติดไป อาจจะเป็นปัญหาได้ หรือถ้าจีนอยากจะเข้ามาร่วมตรวจสอบที่ต้นทางด้วย ก็ต้องให้มาร่วมตรวจสอบด้วย
อย่าลืมว่า “ในโลกการค้า” ผู้ซื้อ “เป็นใหญ่” ผู้ซื้อ “เสียงดัง” ที่สุด อยากได้ของแบบไหน คุณภาพอย่างไร ก็ “ต้องได้” ตามนั้น
เพราะถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาที่ผู้ซื้อ “กังวลมากที่สุด” และขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป มูลค่าส่งออกทุเรียนปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท มีปัญหาขึ้นมา
ถามแค่คำเดียว จะ “รับผิดชอบ” ไหวหรือเปล่า?
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง