​เตรียมรับมือการค้าโลกป่วน

img

แม้การเลือกตั้ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะถึงเดือน พ.ย.2567 แต่ขณะนี้ เป็นช่วงการหาเสียงของผู้ที่คาดว่าจะเป็น “คู่ชิง” ในศึกเลือกตั้ง คือ “นายโจ ไบเดน” ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดี
         
ตอนนี้ ยังไม่รู้ว่าใครจะ “เข้าวิน” ได้รับเลือกให้เป็น “ตัวแทน” ของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในการสู้ศึกษเลือกตั้งครั้งนี้ และเท่าที่ติดตามข่าวล่าสุด เป็นการ “แข่งขัน” ระหว่าง “ไบเดน-ทรัมป์” ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  
         
แต่ไม่ว่า “สุดท้าย-ท้ายสุด” จะเป็นอย่างไร “กระทรวงพาณิชย์” ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า โดยทำการ “ศึกษา-วิเคราะห์” ผลที่จะเกิดขึ้นในด้าน “เศรษฐกิจ-การค้า” ไว้แล้ว
         
โดยการศึกษาวิเคราะห์ เป็นการ “ดำเนินการ” ตามนโยบายของ “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่ได้สั่งการให้ “เตรียมพร้อม-ตั้งรับ-ปรับตัว” ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ไทยก็ต้องพร้อมรับสถานการณ์ทุกเมื่อ
         
สำหรับ “เหตุผล” ที่ต้องศึกษา ก็เพื่อให้ “ผู้ประกอบการไทย” ได้ “รับรู้” ตั้งแต่เนิ่น ๆ และจะได้เตรียมความพร้อม “รับมือ” ไว้ล่วงหน้า ดีกว่าเกิด “ผลกระทบ” แล้ว มาหาทางแก้ทีหลัง
         
นอกจากนี้ ด้วยความที่ “สหรัฐฯ” เป็นประเทศ “มหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก” ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน ก็ล้วนแต่มี “ผลกระทบ” ต่อโลกไม่มากก็น้อย
         
ขณะที่ในด้าน “การค้า” มี “ความสำคัญ” กับไทย โดยเป็น “ตลาดส่งออกอันดับ 1” และเป็น “คู่ค้าอันดับ 2” รองจากจีน อีกทั้งเป็นประเทศที่ “ลงทุนโดยตรง” ในไทย เป็นอันดับ 5 รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์
         
ทางด้าน “ผลการศึกษา” ทิศทางการค้าหลังเลือกตั้ง ที่จัดทำโดย “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” ซึ่งเป็นหน่วยงาน “มันสมอง” ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า หาก “ไบเดน” ชนะการเลือกตั้ง การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม คือ การทำสงครามเทคโนโลยีกับจีน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ การให้ความสำคัญเรื่องโลกร้อน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการดึงฐานการผลิตกลับประเทศ



หาก “ทรัมป์” ชนะ อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ 2 มิติ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ได้แก่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง โดยเฉพาะการยกเลิก ลดการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนสิ้นสุดในไม่ช้า แต่ในการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลก โดยเฉพาะ NATO อาจทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น ซึ่งวันนี้แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้าน “เศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะ “ไบเดน” หรือ “ทรัมป์” กลับมา จะมีการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเข้มข้นขึ้น อย่างไบเดน เพิ่งประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ เหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงแร่ธาตุสำคัญ และถ้าเป็นทรัมป์ ก็น่าจะมากับ “นโยบาย American First” ที่ทำให้เกิด “ความเสี่ยง” ทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ด้วยการตั้งกำแพงภาษี การพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างงานในประเทศ ด้วยการดึงบริษัทข้ามชาติกลับมา

ทั้งนี้ สนค. ไม่เพียงแต่ศึกษาสิ่งที่คาดว่า “จะเกิดขึ้น” แต่ยังได้มี “ข้อแนะนำ” ถึงภาครัฐและผู้ประกอบการไทย โดย 1.ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งและนโยบายเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด 2.ปกป้องการค้าอย่างเหมาะสม กรณีมีการใช้มาตรการทางการค้า และส่งผลให้สินค้าบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดโลก รวมถึงไทย 3.ส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งด้านการลงทุน การผลิต และการค้า 4.กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า เพื่อรักษาสมดุล 5.ดูแลเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ อาทิ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME

ส่วน “ข้อเสนอแนะ” สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อรับมือกับ “ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” ที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในบางสาขาอุตสาหกรรม มีข้อสรุปออกมา ดังนี้

1.ปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ การกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก รวมถึงการปรับใช้ e-Commerce ในการส่งออกสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง



2.ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น กรณีมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นถึง 60% จะทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้นหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นทดแทนสินค้าจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประเทศที่สาม รวมถึงไทย ในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ

3.ลดความผันผวนทางการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ สินค้านำเข้า ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศหรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ผ่านการส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงัก
         
จะเห็นได้ว่า “ผลการศึกษา” มีข้อหนึ่งที่เป็นไปใน “ทิศทางเดียวกัน” คือ การปกป้องทางการค้าที่จะ “เข้มข้นขึ้น-รุนแรงขึ้น”  
         
นั่นหมายความว่า ทั้งภาครัฐของไทย ทั้งผู้ประกอบการไทย ต้อง “ตั้งรับ-ปรับตัว” ให้ทันเกม และ “ต้องเริ่ม” ตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้
         
รวมทั้งต้องเตรียม “ความพร้อม” ไว้ล่วงหน้า และหา “ทางหนีทีไล่” ให้ได้
         
เมื่อถึงตอนนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี

การค้าไทย” คงไม่กระทบ หรือถ้าจะกระทบ ก็คงมีผลกระทบไม่มาก

แล้วที่สำคัญ “นายภูมิธรรม” ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ “ทำแผน-ทำกลยุทธ์” ช่วยผู้ประกอบการไทยรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว

น่าจะช่วยให้มี “ความพร้อม” ได้ในระดับหนึ่ง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง