จบไปแล้วสำหรับ “ดรามาปังชา”
ต้องบอกว่า “จบสวย” สำหรับร้านที่ “ถูกกระทำ” ไม่ต้องเสียอะไร ไม่ต้องจ่ายอะไร และอยู่ที่ว่า จะ “จบเรื่อง” หรือจะ “เอาเรื่องต่อ” ตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ไว้
ส่วน “ร้านลูกไก่ทอง” ที่เป็นต้นเหตุดรามาในครั้งนี้ ถือว่า “จบไม่สวย” เท่าไร เพราะ “ชื่อเสียง” และ “ธุรกิจ” น่าจะได้รับความเสียหาย ไม่มากก็น้อย
สำหรับเรื่องราว “เป็นมา-เป็นไป” อย่างไร ทุกท่านคงรู้จากข่าว อ่านจากสื่อ เห็นจากคลิปที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เต็มเฟซบุ๊ก ไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ กันแล้ว
ก็ขอสรุปคร่าว ๆ แล้วกัน “จุดเริ่มต้นดรามา” มาจาก “ร้านลูกไก่ทอง” ได้โพสต์ภาพเมนู “ปังชา” พร้อมข้อความประกอบว่าได้รับการคุ้มครอง “เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลงแก้ไข”
ประมาณว่า ได้รับจด “เครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตร” มาแล้ว ใครจะมา “ละเมิด” ไม่ได้นะ
ต่อมา มีร้านที่เชียงใหม่ ที่ขายขนมปังปิ้ง ชา เครื่องดื่ม และใช้ชื่อร้าน “ปังชา” ออกมาให้ข้อมูลจนเป็นข่าวใหญ่โตว่า ถูก “ยื่นโนติส” เรียกค่าเสียหาย “102 ล้านบาท” ถ้าไม่จ่าย จะบวกค่าปรับวันละ 1 หมื่นบาท
จากนั้น มีอีกร้านที่หาดใหญ่ ชื่อ “ทางช้างเผือก” และในชื่อร้านมีคำว่า “ปังชา” อยู่ด้วย ถูกเรียกค่าเสียหาย 7 แสนบาท ให้จ่ายใน 7 วัน ถ้าไม่จ่ายปรับวันละ 1 หมื่นบาท
ไม่เพียงแค่นั้น “ร้านตั้งใจชง” ที่หาดใหญ่ ถูกยื่นโนติสให้ “หยุดละเมิด” อ้างว่ามีการใช้ถ้วยใสน้ำแข็งไส มีลักษณะ “คล้ายคลึง” กับของที่ร้านลูกไก่ทองใช้ และเรียกค่าเสียหาย 2 ล้านบาท
เมื่อ ดรามาเริ่ม “go so big” ร้านลูกไก่ทอง ออกมาโพสต์ซ้ำว่า “ขออภัย” ที่การสื่อสาร ทำให้เกิด “ความเข้าใจ” ที่คาดเคลื่อน และพร้อมหาทางออก
ขณะที่หน่วยงานรัฐ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ออกมาชี้แจง “ข้อกฎหมาย” ว่า ร้านลูกไก่ทองได้จด “เครื่องหมายการค้า” ไว้กับกรม 9 เครื่องหมาย ทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha”
ยกเว้นคำขอเลขที่ 220133777 ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha และรูปไก่ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี โดยผู้ยื่นคำขอได้นำส่งหลักฐานว่ามีการใช้เครื่องหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กรมจึงรับจดทะเบียน โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha
แต่ “ตามหลัก” ของกฎหมาย ผู้ประกอบการ “มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว” ที่จะใช้เครื่องหมายตามองค์ประกอบ “ของคำ” และ “ภาพ” ตามที่ได้รับจดทะเบียน ไม่สามารถ “ดึงเฉพาะบางส่วน” ของเครื่องหมาย คือ คำว่า “Pang Cha” มาอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวได้
พร้อมสรุปว่า บุคคลอื่น “สามารถ” นำคำนี้ไปใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช้ “ทั้งภาพ” และ “คำในรูปแบบเดียวกัน” กับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้จดทะเบียนเอาไว้ เพราะจะเป็นการ “ละเมิด” เครื่องหมายการค้า
ส่วน “สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์” ผู้ประกอบการมีการยื่นจดทะเบียน “ภาชนะสำหรับใส่ปังชา” แต่ไม่ได้จด “สิทธิบัตร” หรือ “อนุสิทธิบัตร” ในสูตรปังชา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านขนม ที่มี “เมนูน้ำแข็งไสรสชาไทย” จึงสามารถ “ทำขาย” ต่อไปได้
เรียกว่า “ตัดจบ” ปัญหาก่อนที่จะวุ่นวายไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม แม้กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะมีการอธิบาย “หลักของกฎหมาย” ออกมา แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยัง “ไม่เข้าใจ” ว่ามัน “แปลว่าอะไร” หรือ “หมายความว่าอย่างไร”
จนกระทั่ง ทุกอย่าง “เคลียร์ชัด”
เมื่อ “น.ส.ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ออกมาชี้แจงแบบภาษาชาวบ้าน ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า คำว่า “ปังชา” ภาษาไทย หรือ “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ เป็นคำที่คนเข้าใจว่า “ขนมปัง” บวก “ชา” เรียกสั้น ๆ ว่า ปังชา ใครก็เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคน “ใช้ได้”
ส่วนที่ร้านลูกไก่ทอง ได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้จะมีคำว่า “Pang Cha” ในเครื่องหมาย แต่ “การคุ้มครอง” ก็คุ้มครองทั้งเครื่องหมาย ที่เป็น “ลูกไก่ประดิษฐ์เป็นตัว G” และมีคำว่า Pang Cha ไม่ใช่แยกส่วนใด ส่วนหนึ่ง หรือคำใดคำหนึ่งออกมา แล้วมาบอกว่า ตัวเอง “เป็นเจ้าของ” แบบนี้ “ไม่ได้”
สำหรับ “ถ้วยใส่น้ำแข็งไส” ที่ร้านลูกไก่ทอง ได้รับการจด “สิทธิบัตรการออกแบบ” ได้รับ “จดแบบไหน” ก็ “มีสิทธิ์” แบบนั้น โดยแบบของร้าน มี “4 ขา และมีถาดใส่น้ำแข็งแห้ง” ของร้านอื่น มี 3 ขา แม้สาระสำคัญ คือ การเป็น “ถ้วยน้ำแข็งไส” เหมือนกัน แต่รายละเอียดต่างกัน แบบนี้ถือว่า “ต่างกัน” จะมา “อ้างสิทธิ์” ไม่ได้
นั่นหมายความว่า ร้านที่ขายน้ำแข็งไส ตราบใด ที่ไม่ได้ไป “ลอกเลียนแบบ” หรือพูดให้เข้าใจ คือ ถ้าไม่ได้ไป “ก๊อปปี้” ถ้วยของร้านลูกไก่ทองมาใช้ ยังไง “ก็ไม่ผิด”
เป็น “บทสรุป” ดรามาปังชา ที่สอน “บทเรียน” ในหลาย ๆ เรื่อง ทั้ง “ความรู้” เกี่ยวกับการจดทะเบียน “เครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตร” ความรู้ในการ “คุ้มครองสิทธิ์” รวมไปถึง “การบังคับใช้สิทธิ์” ที่ต้อง “ทำให้ถูกต้อง” และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมา “ใช้สิทธิ์” ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ไม่ได้
จากกรณีที่เกิดขึ้น นอกจาก “ร้านลูกไก่ทอง” และ “ผู้ที่ถูกยื่นโนติส” ที่ทำให้สังคมรู้จัก และหันมาสนใจเรื่อง “ทรัพย์สินทางปัญญา” กันมากขึ้น ยังมีอีกหนึ่งคน ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ “น.ส.ทักษอร” ซึ่งเป็นตัวแทนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกมาอธิบาย “ข้อกฎหมาย” ให้เข้าใจได้แบบง่าย ๆ จนสามารถ “เคลียร์ปม” ที่คน “สงสัย” จาก “ดรามา” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้แบบ “อยู่หมัด” และ “หมดข้อสงสัย”
นี่ถ้าบังเอิญอยู่ใน “วงการบันเทิง” มีหวัง “แจ้งเกิด” ได้เต็มตัว และถ้าไม่ได้เป็น “ข้าราชการ” รับรอง “งานวิ่งเข้าหา” แบบตั้งตัวไม่ติดเป็นแน่
ดีใจที่ “กระทรวงพาณิชย์” มี “คนเก่ง” แบบนี้
ขอ “ชื่นชม” และขอให้ “ก้าวหน้า” ในชีวิตราชการก็แล้วกัน
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง