ปีนี้ “มังคุด” ซึ่งเป็น “ราชินีผลไม้” ได้ทำสถิติ “ราคาพุ่งสูงสุด” เป็นประวัติศาสตร์ ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างความดีอกดีใจให้กับ “ชาวสวนมังคุดภาคตะวันออก” เป็นอย่างมาก
โดยราคามังคุด “เกรดมัน” ซึ่งเป็นเกรด “ดีที่สุด” ตลาดส่งออกมีความต้องการ “มากที่สุด” ราคาขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 175 บาท และพุ่งไปแตะระดับสูงสุดที่ กก.ละ 200 บาท ในวันที่ 11 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา
ส่วน “เกรดกากลาย” ซึ่งเป็นเกรดรองลงมา ผิวไม่ค่อยสวย มีลายบนลูก ราคาก็ดีไม่แพ้กัน อยู่ที่ กก.ละ 130-145 บาท และ “เกรดคละ” แบบว่าปน ๆ ทุกเกรดรวมกัน ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สุกบ้าง ราคาอยู่ที่ กก.ละ 120-150 บาท
แต่ตอนนี้ “มังคุดภาคตะวันออก” ได้จบฤดูกาลไปแล้ว คงเหลือแค่ “สถิติ” ให้จดจำ และปัจจุบันเป็นช่วงฤดูกาล “มังคุดภาคใต้” ที่ขณะนี้เป็นช่วงของรุ่นแรก ที่กำลังเข้าสู่ช่วงปลาย และกำลังจะเริ่มต้นฤดูกาลมังคุดรุ่น 2
ปีนี้ “มังคุดภาคใต้” คาดว่าจะมีปริมาณ 142,077 ตัน เพิ่ม 409% ซึ่งถือเป็นตัวเลขใกล้เคียงในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ยกเว้นปีที่แล้ว ที่ผลผลิตลดลง เพราะได้รับความเสียหายจาก “ภัยธรรมชาติ” อย่างหนัก
ปัจจุบัน ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ที่ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ เกรดมัน อยู่ที่ กก.ละ 87-103 บาท โดยราคาเพิ่งทะลุ 100 บาท ขึ้นไปแตะ 103 บาท เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา เกรดลาย กก.ละ 53-69 บาท เกรดดำ กก.ละ 35-49 บาท
ส่วน “คำถาม” ทำไมมังคุดใต้ถึง “ราคาถูกกว่า” มังคุดภาคตะวันออก ทั้ง ๆ ที่คุณภาพไม่น่าจะห่างกันมากนัก
“คำตอบ” ก็คือ เพราะมังคุดภาคตะวันออก ผลผลิต “ออกก่อน” ตอนนั้นตลาด “ต้องการมาก” ราคาก็เลยสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่พอช่วง “มังคุดใต้” ออก ตลาดบริโภคมังคุดภาคตะวันออกไปมากแล้ว ทำให้ความต้องการลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีความต้องการ และราคาก็ไม่ถือว่า “แย่” โดยมังคุดเกรดมัน ราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วตั้งแต่ 100-150% เลยทีเดียว
ยิ่งตอนนี้ “กรมการค้าภายใน” ได้เข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด มีการประสานผู้ส่งออก ผู้รวบรวม ล้งไทย ล้งจีน ห้างค้าส่งค้าปลีก พ่อค้าในประเทศ ลงพื้นที่เข้าไปรับซื้อ ก็ยิ่งทำให้ราคายิ่งปรับตัวสูงขึ้น ทำสถิติขึ้นเพิ่มเป็นรายวัน
จนเกษตรกรชาวสวนมังคุด ถึงขั้นออกมา “ขอบคุณ” กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ที่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
ส่วน “ทุเรียน” ที่เป็น “ราชาผลไม้” ปีนี้คาดว่า พื้นที่ภาคใต้จะมีผลผลิตปริมาณ 667,338 ตัน เพิ่ม 49% ดูตัวเลขแล้ว ก็ไม่น่า “มีปัญหา” เพราะผลผลิตใกล้เคียงกับหลายปีก่อนหน้านี้ ยกเว้นปีที่แล้วที่ผิดปกติจากภัยธรรมชาติเหมือนกับมังคุด
ขณะนี้ ผลผลิตทุเรียนเพิ่งออกสู่ตลาดประมาณ 6-7% ราคาก็อยู่ในเกณฑ์ดี “เกรดส่งออก” อยู่ที่ กก.ละ 120-135 บาท และ “เกรดคละ” กก.ละ 80-90 บาท
สำหรับ “แผนรับมือ” ในระยะต่อไป ที่ผลผลิตจะเริ่มออกมาก เท่าที่ติดตาม ทราบว่า “กรมการค้าภายใน” ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้พร้อมแล้ว
“นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” บอกว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการรับซื้อทุเรียนภาคตะวันออก ล้งไทย ล้งจีน ได้เดินทางลงไปภาคใต้แล้ว และตั้งแต่ “สัปดาห์นี้” เป็นต้นไป จะเข้าไปครอบคลุมพื้นที่ 80% และจะทยอยเพิ่มเติมเข้าไปเรื่อย ๆ
ไม่เพียงแค่นี้ ยังได้ “ประสานความร่วมมือ” ไปยัง “ตลาดมรกต” ซึ่งเป็นตลาดทุเรียนที่ “ใหญ่ที่สุดในประเทศ” ในส่วนของภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตผ่านตลาดกว่า 5,000 ตัน/วัน ยืนยันว่า ผู้ประกอบการรับซื้อส่งออกกว่า 50 ล้ง พร้อมที่จะ “ซื้อทันที” และ “ซื้อไม่อั้น” รวมถึงผู้ประกอบการ ที่ซื้อไปจำหน่ายในประเทศ ห้องเย็น โรงงานแปรรูป กว่า 300 ราย ก็พร้อมที่จะ “เข้ามาซื้อ”
ล้วนแล้วแต่เป็น “สัญญาณที่ดี” กับทุเรียนภาคใต้
ด้านตลาดส่งออก อย่างจีน ก็มี “สัญญาณบวก” เพราะมีผู้ส่งออก มีล้งเข้ามารับซื้อ ตู้สินค้าก็มีมาก การขนส่งทางบก ก็ไม่มีปัญหา
ยิ่งตอนนี้ ทุเรียนภาคตะวันออก “จบฤดูกาล” แล้ว สรรพกำลังในการรับซื้อ ก็จะมุ่งลงมาที่ภาคใต้ทั้งหมด
นอกจากนี้ “กระทรวงพาณิชย์” ยังได้ “จับตา” และ “เกาะติด” การซื้อขาย “มังคุด-ทุเรียน” อย่างใกล้ชิด หลังได้รับ “สัญญาณ” ว่า มีผู้ประกอบการและล้งบางรายพยายามร่วมมือกัน “หยุดรับซื้อ” เพื่อ “กดราคา”
ตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์ “ตะโกนเสียงดัง ๆ” ออกไปแล้ว หากตรวจสอบพบ ตรวจจับได้ ว่ามีการ “จำกัดการรับซื้อ” หรือ “ร่วมกันปฏิเสธการรับซื้อ” หรือทำให้ “ปั่นป่วนซึ่งราคา” จะเล่นงานตามกฎหมายอย่างหนัก คือ ตาม “พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560” มาตรา 72 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และตาม “พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542” มาตรา 29 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เป้าหมาย ก็เพื่อ ต้องการดูแล “เกษตรกร” ให้ได้รับ “ความเป็นธรรม” ในการ “ซื้อขาย”
เพราะตอนนี้ สถานการณ์ด้านราคา ถือว่า “เอาอยู่”
“กรมการค้าภายใน” ยืนยันชัดเจน จะทุ่มเททำงานหนัก ทั้งตั้ง “วอร์รูม” เพื่อเกาะติด ทั้ง “ลงพื้นที่” ติดตามสถานการณ์ และ “พร้อมประสาน” ผู้ประกอบการเข้าซื้อในจุดที่มีปัญหาอย่างทันท่วงที
ส่วนใครที่คิดจะ “ตุกติก” คิดจะ “เอาเปรียบ” เกษตรกร ก็ขอให้ “หยุด” และขอให้ “ช่วยกัน” ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม
ปีนี้ เป็น “ปีทอง” ชาวสวนมังคุด ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกไปแล้ว
ขอให้ถึงคิว “ชาวสวนมังคุด ชาวสวนทุเรียนภาคใต้” ดื่มด่ำกับคำว่า “ปีทอง” กันบ้าง
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง