​ลุยทำ FTA 80% ของการค้า

img

ปัจจุบัน “ประเทศไทย” มี “ความตกลงการค้าเสรี (FTA)” จำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คิดเป็น “สัดส่วนการค้า” อยู่ที่ 60.9% ของ “มูลค่าการค้า” ไทยกับโลก
         
นั่นแสดงว่าอีก 39.1% เป็นการค้ากับประเทศที่ไทย “ไม่มี FTA” ด้วย
         
ประเทศที่ไทยส่งออก และไม่มี FTA ก็เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศในแอฟริกา เป็นต้น
         
แต่ “สัดส่วนการค้า” ของไทยกับประเทศที่ไม่มี FTA กำลังจะ “ลดลง” เพราะล่าสุด “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ได้มี “แผน” ที่จะทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
         
โดยมีเป้าหมายว่า “จะเพิ่มสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่มี FTA เพิ่มเป็น 80% ในปี 2570
         
“ผู้เขียน” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ถึงแผน “การขับเคลื่อน” การเจรจา FTA ของไทย ที่จะไปสู่ “เป้าหมาย” สัดส่วนการค้าเพิ่มเป็น 80% ในปี 2570

นางอรมน บอกว่า ที่ตั้งไว้ 80% มี “ความเป็นไปได้” และ “ไม่เกินกำลัง” เพราะตอนนี้กำลังเจรจา FTA หลายกรอบมาก และจะเริ่ม “ปิดดีล” ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
         
กรอบที่มีความ “คืบหน้า” มากที่สุดตอนนี้ คือ “ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)” ที่เพิ่งประกาศเริ่มต้นเจรจาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 และมีการ “เจรจารอบแรก” ไปแล้วเมื่อวันที่ 16-18 พ.ค.2566 โดย “ตกลง” กันว่า ตั้งเป้าจะ “จบ” ให้ได้ภายใน 6 เดือน
         
ส่วนกรอบอื่น ๆ ที่มีความคืบหน้า เช่น “ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)” จะเจรจารอบแรกเดือน ก.ย.2566 ตั้งเป้าใช้เวลาเจรจา 2 ปี จบปี 2568



ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)” เริ่มเจรจารอบแรกไปแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย.2565 จะนัดคุยรอบที่ 5 เดือน มิ.ย.2566 คาดว่าจะจบใน 2 ปี หรือปี 2567

ไทย-ศรีลังกา” เริ่มเจรจาปี 2561 นัดเจรจารอบที่ 5 เดือน มิ.ย.2566 ตั้งเป้าปิดรอบปี 2567

อาเซียน-แคนาดา” เปิดเจรจารอบแรก ก.ย.2565 ตั้งเป้า 2 ปีจบ หรือจะจบในปี 2567

สรุปชัด ๆ” FTA ที่จะเจรจาจบในปี 2566 มี 1 กรอบ คือ ไทย-ยูเออี ปี 2567 จำนวน 3 กรอบ คือ ไทย-EFTA ไทย-ศรีลังกา อาเซียน-แคนาดา และปี 2568 อีก 1 กรอบ คือ ไทย-อียู

นอกจากนี้ ยังมี FTA ที่ “ค้างการเจรจา” ที่ต้องเร่งเจรจาให้จบ เช่น “ไทย-ตุรกี” ที่ตอนนี้มีการเลือกตั้งอยู่ ก็ต้องรอไปก่อน และ “ไทย-ปากีสถาน” ซึ่งทางปากีสถานยังเงียบ ก็ต้องติดตามว่าจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร

ขณะเดียวกัน มี FTA ที่กำลังอยู่ระหว่าง “ศึกษา” โดยจะดูว่าการทำ FTA จะ “เกิดประโยชน์” กับไทยมากน้อยแค่ไหน หรือจะมี “ผลเสีย” อะไรบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ “ภาคเอกชน” ต้องการ เช่น อิสราเอล ภูฏาน เกาหลีใต้ กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance มีสมาชิก ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC มีสมาชิกซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน ยูเออี กาตาร์ และบาห์เรน สหภาพศุลกากรแห่งแอฟริกาตอนใต้ หรือ SACU มีสมาชิก คือ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เลโซโท สวาซิแลนด์ และนามิเบีย ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือเมอร์โคซูร์ มีสมาชิก อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย

ทั้งนี้ เฉพาะเกาหลีใต้ ไทยมี FTA ในกรอบ “อาเซียน-เกาหลีใต้” แล้ว แต่ยังมีสินค้าอีก 10% ที่ “ยังไม่เปิดเสรี” ถ้าอยากได้ “ทั้งตะกร้า” ก็ต้องมาทำ FTA ระหว่าง 2 ประเทศ



นอกนั้น ยังมี FTA เดิมที่อยู่ระหว่างการ “อัปเกรด” ให้เข้มข้นอีก คือ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) เริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าจบในปี 2568 อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะขยายความร่วมมือเปิดเสรีให้มากขึ้น และเพิ่มความร่วมมือให้ครอบคลุมการค้าใหม่ ๆ ตั้งเป้าจบภายในปี 2566 อาเซียน-จีน เริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าจบปี 2567 อาเซียน-อินเดีย ตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือแผนการเจรจา จะมีกี่เรื่อง และเริ่มเมื่อไร และอาเซียน-เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างสองฝ่ายศึกษาที่จะเปิดทบทวน
         
หากนับ FTA ที่กำลังเจรจา ค้างเจรจา และ FTA ใหม่ที่กำลังศึกษา ถ้าทำ “สำเร็จ” ตามเป้า ก็จะมีสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่ทำ FTA เพิ่มขึ้น
         
เริ่มจาก ไทย-ยูเออี ได้มา 3.5% ถ้าไทย-อียูสำเร็จอีก ก็จะได้มาอีก 7% ไทย-EFTA ได้เพิ่ม 2% อาเซียน-แคนาดา 0.6% ตุรกี 0.3% ปากีสถาน 0.3% ศรีลังกา 0.1% กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก 1.1% กลุ่มประเทศ GCC 6.7% เมอร์โคซูร์ 1.3%
         
บวกไปบวกมาก็ได้ราว ๆ 80% พอดิบพอดี
         
นางอรมนสรุปว่า แม้บางประเทศ “สัดส่วนการค้า” ไม่เยอะ แต่เป็นประเทศที่ “ไม่ผลิตอะไร” ต้อง “นำเข้า” อย่างเดียว ก็เป็น “โอกาส” ทางการค้าของไทย อย่าง “ภูฏาน” ที่มีสัดส่วนการค้าน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสมาก หรือบางประเทศ ก็มีโอกาสในการเปิดตลาด “สินค้าเกษตร” เป็นต้น
         
ถ้าเพิ่มสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA ได้มากขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์กับไทยมากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การลงทุน เพราะตอนนี้ ต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติ ก็มาถามตลอด ไทยมี FTA กับใครบ้าง FTA ใหม่ ๆ เจรจาไปถึงไหนแล้ว ทำให้ต้องมาเร่งทำ FTA เพื่อทำให้ไทยเป็นที่สนใจ ถ้าไม่ทำเดี๋ยวตกขบวน”นางอรมนกล่าว
         
มีแต่ “ได้กับได้” ลุยเลย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด