​ปิดฉากมะม่วง ชาวสวนยิ้ม รายได้พุ่ง

img

ตอนนี้ น่าจะใกล้จบ “ฤดูกาล” สำหรับ “มะม่วง” แล้ว
         
สถานการณ์ “ด้านราคา” ที่ผ่านมา ถือว่าปีนี้ “ไม่แย่” เพราะ “ราคาดี” ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู กลางฤดู และปลายฤดู
         
โดยช่วงต้นฤดูการผลิต “มะม่วงน้ำดอกไม้” ที่เกษตรกรปลูกกันมากที่สุดในบรรดาผลผลิตมะม่วงทั้งหมด ราคาขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 40 บาท เพราะช่วงนี้ผลผลิตยังน้อย แต่ความต้องการมีมาก จนเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล ก็ยังขายได้ กก.ละ 30 บาท พอช่วงออกหนัก ๆ ราคาตกลงไปอยู่ที่ 18-20 บาท แต่ก็ยังถือว่าอยู่ใน “เกณฑ์ดี” เพราะเกษตรกรขายแล้ว “คุ้มต้นทุน” และยังมี “กำไร

ทั้งนี้ เมื่อเทียบราคากับปีก่อน “มะม่วงน้ำดอกไม้” ช่วงที่ออกมาก ๆ อยู่ที่ กก.ละ 13-15 บาท เทียบกับปีนี้ เพิ่มขึ้น 36% ส่วน “มะม่วงฟ้าลั่น” ราคาปีนี้ กก.ละ 9-10 บาท ปีก่อน 5-6 บาท เพิ่มขึ้น 64%
         
ความสำเร็จ” ที่เกิดขึ้น ต้องยกความดีความชอบให้กับ “กระทรวงพาณิชย์” ที่ได้เตรียม “มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566” เอาไว้ล่วงหน้า
         
เบ็ดเสร็จมีทั้งสิ้น 22 มาตรการ ดูแลตั้งแต่ด้านการผลิต ด้านการตลาดในประเทศ ด้านการตลาดต่างประเทศ และด้านกฎหมาย
         
ส่วนการ “หาตลาดล่วงหน้า” ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก ได้ “ตั้งเป้า” ไว้ที่ 7 แสนตัน จากปริมาณผลผลิตผลไม้ทั้งปี 2566 ที่คาดว่าจะมี 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3%
         
ตัวเลข 7 แสนตัน ดูเหมือนจะไม่มาก เมื่อเทียบกับผลผลิตภาพรวม แต่จริง ๆ ถือว่ามาก เพราะผลผลิตผลไม้ที่ออกมา ส่วนหนึ่งจะถูกผู้ส่งออก ผู้ผลิตเข้าไปรับซื้อ เพื่อนำไปส่งออกและแปรรูป อีกส่วนจะถูกพ่อค้า แม่ค้า ไปรับซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายในประเทศ



โดยที่ผ่านมา “ระบบปกติ” ก็ทำงานอยู่แล้ว แต่ที่ตั้งเป้าช่วยระบายผลผลิต 7 แสนตัน ก็เพื่อให้เกิด “ความคล่องตัว” และระบาย “ผลผลิต” ออกจาก “แหล่งผลิต” ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ไม่กระทบ “ต่อราคา” ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก
         
มาตรการที่เตรียมไว้ เช่น อมก๋อย โมเดล การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต โดยช่วยค่ากระจาย กก. ละ 3 บาท นำขายผ่านรถเร่ รถโมบาย เปิดจุดจำหน่ายที่ห้าง ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน จัด Fruit Festival 2023 เพื่อรณรงค์บริโภคผลไม้ สนับสนุนกล่องใส่ผลไม้ให้เกษตรกร ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ และเปิดพรีออเดอร์ผลไม้ เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้ถูก “มอบหมาย” ให้ “กรมการค้าภายใน” กำกับดูแล และให้นำไปใช้ในการบริหารจัดการผลไม้ในภาพรวมทุกชนิด โดยเน้นตัวที่ “มีปัญหา” หรือเห็นแววว่า “จะมีปัญหา” เป็นลำดับแรก

จากนั้น เมื่อ “มะม่วง” ออกสู่ตลาด กรมการค้าภายในก็ “ทำงาน” ทันที เพราะมะม่วงเป็นผลไม้ที่ “ออกมาก” และ “ออกพร้อม ๆ กัน”  

การเข้าไปดูแล เริ่มต้นด้วย “นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” นัดประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน เช่น ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลล่วงหน้า

เคาะ “มาตรการ” ที่จะนำมาใช้ คือ “อมก๋อย โมเดล” โดยการประสาน “ผู้ประกอบการ” เข้าไป “รับซื้อ” ผลผลิตมะม่วงจากเกษตรกร ดำเนินการควบคู่กับ “โครงการ Fruit Festival 2023” ที่เปิดจุดจำหน่ายมะม่วง เพื่อให้ “ความช่วยเหลือ” เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงตั้งแต่ช่วง “ต้นฤดูกาลผลิต
         
ช่วงผลผลิตออกมาก ๆ นายวัฒนศักย์ยังได้มอบหมายให้ “นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน” เข้าไป “เกาะติด” มะม่วงแบบ “ถึงลูกถึงคน” จุดไหน “ผลผลิตมาก” จุดไหน “ผลผลิตล้นตลาด” ก็ให้เข้าไป “ช่วยเหลือ” ทันที
         


ผลปรากฏว่า ปีนี้ ราคามะม่วงอยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด  
         
แต่บางช่วง ก็มีปัญหาบ้าง เช่น ผลผลิตมะม่วงใน จ.พิจิตร เจอพายุถล่ม ก็ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ หรือกรณีมีข่าวมะม่วงใน จ.พิษณุโลก ราคาตกเหลือ กก. ละ 1-2 บาท ก็ประสานพาณิชย์จังหวัดเข้าไปตรวจสอบ แต่ก็ไม่พบว่ามีการจำหน่ายในราคาดังกล่าว หรือกรณีเกษตรกรร้องเรียนว่าไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ก็ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อทันที
         
พูดได้ว่า “สกัด” ทุกปัญหา “เบรก” ทุกความเข้าใจผิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อ “ราคามะม่วง
         
ส่วนช่วงการ “เปิดจุดจำหน่าย” ภายใต้โครงการ Fruit Festival 2023 ก็เรียก “เสียงฮือฮา” ได้ไม่เบา โดยนำ “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” จำนวน 1,000 ตัน หรือประมาณ 1 ล้านกิโลกรัม จำหน่ายผ่านห้างท้องถิ่น 200 แห่งทั่วประเทศ
         
ปรากฏว่า บางแห่งเปิดขายแปบเดียวหมด บางแห่งขายไม่ถึงวัน บางแห่งขายแค่วันสองวัน

1 ล้านกิโลกรัม” หมดอย่างไว

พอมีเสียง “เรียกร้อง” ให้จัดต่อ ก็ไม่มีมะม่วงให้เอามาขายแล้ว เพราะขณะนี้กำลัง “นับถอยหลัง” วันสิ้นสุดฤดูกาล
         
หากดูผลการทำงานที่ผ่านมา ต้องขอชื่นชมฝีมือ “กรมการค้าภายใน” ที่เอาอยู่

เพราะสามารถดูแลไม่ให้ “ราคาตกต่ำ

ดูแล “ประชาชน” ทั่วทั้งประเทศได้บริโภคมะม่วงคุณภาพดี

ดูแล “เกษตรกร” ให้ขายผลผลิตได้ราคาดีตั้งแต่ต้นฤดู กลางฤดู และปลายฤดู

จนสามารถ “ปิดจ๊อบ” การบริหารจัดการมะม่วงในปีนี้ได้อย่างงดงาม
         
ส่วน “ผลไม้ชนิดอื่น ๆ” ที่กำลังออกสู่ตลาด ก็ต้อง “ติดตามฝีมือ” กันต่อไป
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด