​สร้างความเชื่อมั่นข้าวหอมมะลิไทยในจีน

img

สัปดาห์ก่อน มี “ข่าวใหญ่” ในสื่อจีน และในสื่อไทย ว่า จีนบุกจับโรงงาน “ปลอมข้าวหอมมะลิไทย” โดยใช้วิธีใส่สาร “แต่งกลิ่น” ให้เหมือนข้าวหอมมะลิไทย
         
ข่าวนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความ “ฮือฮา” แต่ยังก่อให้เกิด “ความกังวล” ว่าจะกระทบต่อ “ชื่อเสียง” ของข้าวหอมมะลิไทย หรือกระทบต่อ “การส่งออก” ข้าวหอมมะลิไทยไปจีนหรือไม่
         
ทันทีที่ทราบข่าว “นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ได้สั่งการให้ “นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ออกข่าวชี้แจงทันที
         
มีเป้าหมายเพื่อป้องกัน “ความสับสน” ไม่ให้ลุกลาม
         
สรุปชัด ๆ ทันที “การปลอมข้าวหอมมะลิไทย” ที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือของ “โรงงานข้าว” ในจีน ที่ใช้ “ข้าวที่ปลูกในจีน” มาใส่สารปรุงแต่งให้มี “กลิ่นหอม” เหมือนข้าวหอมมะลิไทย และถูกทางการจีน “จับ” และ “สั่งปิดโรงงาน” ไปแล้ว
         
จากนั้น นายรณรงค์ ได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง ชี้ให้เห็นว่า “เกิดอะไรขึ้น” และจากนี้ จะมี “แนวทางรับมือ” และ “แก้ไขปัญหา” ที่เกิดขึ้นยังไง
         
นายรณรงค์สรุปว่า เป็นปกติประจำทุกปี ที่จีนจะ “เปิดโปง” กรณี “ลักลอบ” หรือ “ฝ่าฝืน” กฎระเบียบมาตรฐานผู้บริโภค ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มี.ค.ของทุกปี
         
ปีนี้ เป็นการเปิดโปง “การใส่สารปรุงแต่งกลิ่น” ในข้าวเพื่อ “สวมรอย” และ “แอบอ้าง” เป็น “ข้าวหอมมะลิไทย
         
ตรวจเจอทั้งหมด 3 โรงงาน และทั้ง 3 โรงงาน “ไม่เกี่ยวข้อง” กับข้าวหอมมะลิไทย และ “ไม่เคยมีการนำเข้า” ข้าวหอมมะลิจากไทยแต่อย่างใด
         
โดยบริษัทแรก คือ บริษัท Anhui Huainan Shouxian Yongliang Rice Industry ใช้ชื่อแบรนด์ “ราชาไทย (Tai Zhi Wang)” และ “ข้าวหอมมะลิไทยรุ่นที่ 2” โดยเป็นชื่อที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และใช้ข้าวท้องถิ่น มาแต่งกลิ่น ขายในพื้นที่มณฑลอานฮุยเป็นหลัก มียอดขายปีละ 1 หมื่นตัน



บริษัทที่ 2 คือ บริษัท Anhui Xiangwang Cereals , Oils and Food Technology Co., Ltd. ระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่า “ข้าวหอมมะลิประเทศไทย” และระบุ “แหล่งผลิตจากประเทศไทย” โดยใบอนุญาตประกอบธุรกิจแปรรูปข้าวหมดอายุตั้งแต่ปี 2017

บริษัทที่ 3 คือ บริษัท Huainan Chufeng Industry and Trade Co., Ltd. จำหน่ายข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเซียง เป็นข้าวที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเอย์หลงเจียง ใช้ชื่อแบรนด์ “Tai Guo Xiang Mi , Tai Xiang Mi” หรือข้าวหอมมะลิไทย ใช้สารเติมแต่งกลิ่นเช่นเดียวกัน

ทั้ง 3 บริษัทนี้ จะถูก “ดำเนินคดี” ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยอาหาร ความปลอดภัยทางยา กฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค การโฆษณาเกินจริง กฎหมายความปลอดภัยของสินค้า และความผิดในคดีอาญา

นอกเหนือจาก 3 โรงงานนี้ ยังได้มีการตรวจสอบ 2 โรงงานที่ผลิต “สารปรุงแต่ง” คือ บริษัท Shanghai Rofeeflavor Fragrant Co., Ltd. และบริษัท Shanghai Fengmi Industrial Co., Ltd. ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ พบว่า ไม่มีใบอนุญาตการผลิต โดยทั้ง 2 โรงงานได้ขายสารปรุงแต่งให้กับโรงงานผลิตข้าว 2 แห่งในมณฑลอานฮุย และโรงงานดังกล่าว ยังลักลอบผลิตสารปรุงแต่งกลิ่นหลายสิบชนิดโดยไม่มีใบอนุญาตด้วย เช่น กลิ่นข้าวหอม และกลิ่นข้าวหอมมะลิไทย

ทางด้าน “ความผิด” ตามกฎหมายไทย ตรวจแล้ว ยังไม่พบความผิด และยังไม่มีการ “ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” โดยเฉพาะ “เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย” และที่มีการนำชื่อ “ข้าวหอมมะลิไทย” ไปใช้ในเครื่องหมายการค้า ก็ไม่ถือว่าละเมิด เพราะเป็นคำทั่วไป ไม่ใช่คำเฉพาะ  
         
ส่วนการ “ฟ้องร้อง” ได้หารือกับ “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ในฐานะผู้เสียหายแล้ว เพื่อหา “ข้อสรุป” ว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับโรงงานข้าวในจีนทั้ง 3 แห่งหรือไม่ ฟ้องร้องที่ศาลใดของจีน หากฟ้องร้อง “ต้นทุน” การดำเนินการ จะคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับผลกระทบ โดยหากฟ้องแล้ว ไม่คุ้ม ก็คงจะไม่ฟ้อง
         


นายรณรงค์ บอกอีกว่า จากนี้ คงต้อง “ประเมิน” ว่าจะมี “ผลกระทบ” มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่า “ไม่มาก” เพราะชาวจีนที่เป็น “แฟนพันธุ์แท้” ของข้าวหอมมะลิไทย ก็คงจะซื้อข้าวหอมมะลิไทยต่อไป
         
ขณะเดียวกัน จะร่วมมือกับ “ทูตพาณิชย์” ที่ประจำอยู่ในจีนทั้ง 7 สำนักงาน เพิ่ม “ความเข้มข้น” ในการลงพื้นที่ “ตรวจสอบ” การจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทย ทั้งในห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้า และตรวจสอบดูว่าข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่าย เป็นข้าวหอมมะลิไทย “ถูกต้อง” หรือไม่ มีการ “แอบอ้าง” ชื่อไทยหรือไม่ มีการละเมิด “เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย” หรือไม่ และหากพบข้าว “ที่น่าสงสัย” ก็ให้ประสานทางการของจีนเพื่อดำเนินการตรวจสอบทันที
         
ไม่เพียงแค่นั้น กรมการค้าต่างประเทศ ยังจะเร่ง “ประชาสัมพันธ์” เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยของผู้ส่งออกว่ามี “แบรนด์” อะไรบ้าง ให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจีนได้รับทราบ และประชาสัมพันธ์ “เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย” ที่เป็น “ตราสีเขียว” ให้ชาวจีนรู้จัก หากจะซื้อข้าว ก็ให้ซื้อแบรนด์ที่มีตรารับรองนี้
         
สำหรับ “ผู้นำเข้า” ที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทย แล้วนำไปบรรจุขายเอง ก็จะประสานให้สมัครขอใช้ตรารับรอง โดยพร้อมที่จะเดินทางไปตรวจสอบให้
         
ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการ “เชิงรุก” ที่กรมการค้าต่างประเทศ ที่มีนายรณรงค์ เป็นหัวหน้าทีม ได้ดำเนินการทันที ที่ทราบข่าว และยังวางแผนที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อ “สร้างความเชื่อมั่น” ต่อข้าวหอมมะลิไทย
         
เห็นอย่างนี้แล้ว ก็ “เบาใจ” ว่าผลกระทบคงไม่เกิดขึ้น
         
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ถือโอกาสนี้ “โปรโมต” ข้าวหอมมะลิไทยในตลาดจีน

แบบ “จัดหนัก จัดเต็ม” ไปเลย

เรียก “ความเชื่อมั่น” ก็ต้องเรียกกันให้สุด ๆ
         
ซีเอ็นเอ   

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด