​Farm Outlet ขับเคลื่อนฐานราก

img

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “กรมการค้าภายใน” ได้ดำเนินโครงการเพื่อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ออกมามากมาย
         
โดยเฉพาะการช่วยเหลือ “เกษตรกร-ผู้ผลิตสินค้าชุมชน” ให้มีรายได้        
         
ไม่ว่าจะเป็นช่วง “ผลผลิต” ออกสู่ตลาดมาก จนประสบปัญหา “ราคาตกต่ำ” หรือสินค้าผลิตออกมาแล้ว “ขายไม่ได้
         
ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือ ทั้งการเข้าไปช่วย “รับซื้อ” ช่วย “เชื่อมโยงตลาด” ช่วย “หาสถานที่จำหน่าย” ให้

หรือทำแบบ “ถาวร” ก็มี อย่างการผลักดันให้มี “ตลาดต้องชม หมู่บ้านทำมาค้าขาย หรือศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet)” เพื่อใช้เป็นที่ “ระบาย กระจาย ขาย” สินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน

ปัจจุบัน “ตลาดต้องชม” มีอยู่ประมาณ 239 แห่ง “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” มีอยู่ 35 แห่ง และ “Farm Outlet” มีอยู่ 69 แห่ง ใน 40 จังหวัด
         
วันนี้ อยากจะเล่าถึง “ที่มาที่ไป” ของ Farm Outlet และ “ประโยชน์” ของ Farm Outlet
         
ในช่วงปี 2552 ตอนนั้น รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร “ด้านการตลาด” ต้องการให้เกษตรกรมี “สถานที่” จำหน่ายสินค้า เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ไม่มีที่ขาย “กรมการค้าภายใน” จึงได้เข้าไป “ส่งเสริม” และ “สนับสนุน” ให้มีการจัดตั้ง Farm Outlet
         
โดย Farm Outlet อาจจะเป็น “ร้านค้าเดิม” ที่มีอยู่แล้ว หรือเป็น “วิสาหกิจชุมชน” หรือเป็น “ร้านที่ตั้งในชุมชน” ก็เข้าไปผลักดันให้ตั้งเป็น Farm Outlet เพื่อให้เป็น “ที่ขาย” หรือเป็น “ศูนย์กลาง” ในการรวบรวมและจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรและชุมชนมาขาย  

จากนั้น ได้เข้าไป “ช่วยเหลือ” ในด้านต่าง ๆ ทั้งการอบรมให้ความรู้ การเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงการตลาด และช่วยในด้านประชาสัมพันธ์



ทำให้ Farm Outlet ได้กลายเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าหลากหลาย ทั้งพืชผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป หรือสินค้าที่เชื่อมโยงจาก Farm Outlet ของจังหวัดอื่น ๆ มีทั้งสินค้าคุณภาพทั่วไป สินค้าที่ได้มาตรฐานอินทรีย์ (Organic) กระทั่งคุณภาพส่งออก

ส่วนรูปแบบ “การซื้อสินค้าเข้ามาจำหน่าย” ใน Farm Outlet ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อสินค้าจากเกษตรกร ผู้ผลิตชุมชน เพื่อนำมาจำหน่าย มีทั้งรูปแบบ “การซื้อขาด” และ “การฝากขาย” แล้วแต่ตกลงกัน
         
สำหรับ “รูปแบบ Farm Outlet แต่ละแห่ง” ก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพแวดล้อม และบริบทของชุมชน เช่น หากตั้งอยู่ใน “แหล่งท่องเที่ยว” เช่น กระบี่ ระนอง กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม ตรัง สงขลา พังงาน แม่ฮ่องสอน สระบุรี ก็จะเป็นร้านลักษณะขายของฝาก แต่ถ้าตั้งอยู่ใน “ชุมชน หมู่บ้าน” ก็จะเป็นร้านขายสินค้าขั้นปฐมเพื่อซื้อนำไปประกอบอาหาร เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชุมพร
         
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า มีแผนที่จะ “พัฒนา” Farm Outlet ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ตอนนี้ กำลังนำ Farm Outlet ที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาช่วย Farm Outlet ที่ยังไม่แข็งแรง ในลักษณะ “เพื่อนช่วยเพื่อน” นำเครือข่าย “MOC Biz Club” มาช่วยเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้า ช่วยเชื่อมโยง เอาสินค้าจากตลาดต้องชม หมู่บ้านทำมาค้าขาย มาขายใน Farm Outlet เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า
         
ไม่เพียงแค่นี้ จะใช้ Farm Outlet เป็นแหล่งระบายผลผลิตด้านการเกษตร ที่มีปัญหาผลผลิตล้นตลาด หรือราคาตกต่ำ อย่างล่าสุด ได้มีการนำ “มะนาว” ที่มีปัญหาด้านผลผลิต มาช่วยจำหน่าย ก็ช่วยระบายออกไปได้มาก

ต่อไป ก็จะนำสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่อาจจะมีปัญหาหรือช่วงที่มีปัญหา เช่น หอมแดง กระเทียม มาจำหน่ายที่ Farm Outlet ด้วย
         


ส่วน “แผนการขับเคลื่อน Farm Outlet ปี 2566” นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ตั้งเป้าที่จะปรับปรุง “ภาพลักษณ์” ให้มีความทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขาย มีการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้ามีความโดดเด่น ดึงดูดผู้บริโภค
         
มีเป้าหมายพัฒนาไม่มาก อย่างน้อยต้องมี 10 แห่ง ซึ่งตอนนี้ อยู่ระหว่างการคัดเลือก แต่อีกไม่นาน ก็จะรู้กันว่าเป็นที่ไหน
         
นอกจากนี้ นายวัฒนศักย์ ยังบอกอีกว่า อยากจะเข้าไปช่วย “อัปเกรด” สินค้า ให้ได้มาตรฐาน เช่น อย. ฮาลาล รวมทั้ง สนับสนุนการออกแบบ “ตราสินค้า” หรือ “โลโก้” ผลักดันให้จดทะเบียน “เครื่องหมายการค้า” และการช่วยพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ขั้นต้น” เพื่อให้สินค้าสวยงาม ดึงดูดผู้บริโภค
         
ที่ลืมไม่ได้ คือ เมื่อช่วยพัฒนาแล้ว ก็ต้องช่วย “ประชาสัมพันธ์” ให้คนรู้จัก ดึงคนเข้าไปซื้อ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปซื้อ จะรุกหนัก ทั้งผ่านสื่อ “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์
         
ตั้งเป้าอยากให้คนนึกถึง Farm Outlet เป็นร้านค้าที่จำหน่ายของ “ดี เด่น ดัง” ในแต่ละจังหวัด หรือบางร้าน จะมีของดี เด่น ดัง จากจังหวัดอื่นมาขายด้วย  
         
ปัจจุบัน เท่าที่ทราบ Farm Outlet แต่ละแห่ง มียอดจำหน่ายเฉลี่ยตกเดือนละ 50,000-1,500,000 บาท แล้วแต่ว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ อยู่ในแหล่งชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยว
         
รายได้” เหล่านี้ ไม่ได้ตกอยู่กับ “นายทุน นายห้าง” ที่ไหน แต่ “ทุกบาท ทุกสตางค์” ย้อนกลับไปที่ “เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าชุมชน
         
ช่วยกัน “อุดหนุน” สินค้าจาก Farm Outlet เท่ากับช่วยอุดหนุนเกษตรกร ช่วยอุดหนุนผู้ผลิตสินค้าชุมชน
         
และที่สำคัญ จะช่วย “ขับเคลื่อน” เศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งด้วย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด