​“พาณิชย์”พร้อมดูแลข้าวเปลือก

img

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร” คาดการณ์ปริมาณ “ผลผลิตข้าวปี 2568/68” ไว้ที่ตัวเลข 27.035 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.76% เมื่อเทียบกับปี 2566/68 ที่มีปริมาณผลผลิต 26.833 ล้านตัน  
         
โดยผลผลิตจะ “ออกสู่ตลาด” มากที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 เป็นต้นไป คาดว่า ปริมาณจะสูงถึง 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 65.34% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ส่วนเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 2.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 8.18% ของผลผลิตทั้งหมด
         
สำหรับข้าว “นาปรัง ปี 2568” คาดว่าจะมีผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 10.14% โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ ก.พ.-ต.ค.2568
         
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือก ณ วันที่ 4 ต.ค.2567 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,500-17,700 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 15,200-17,400 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,400-10,200 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 14,800-15,700 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,300-14,800 บาท

ราคาดังกล่าว ถือว่า ยังอยู่ใน “เกณฑ์ดี
         
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความพยายามใช้กรณีที่ “อินเดีย” อนุมัติให้มีการ “ส่งออกข้าวขาว” ที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติอีกครั้ง หลังจากที่ประกาศ “ควบคุมการส่งออก” ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 หรือกว่า 1 ปี เพื่อดูแลราคาข้าวในประเทศ

ทันทีที่ “ข่าวออก” ในไทยเริ่มมีการ “ปล่อยข่าว” ทั้งจาก “โรงสี” และ “ผู้ส่งออก” เรื่อง “ราคาข้าวตกต่ำ” โดยอ้างเหตุผลอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว ทำให้ราคา “ข้าวเปลือก” วูบลงไปช่วงหนึ่ง จนสร้างความ “กังวลใจ” ต่อชาวนา  
แต่เพื่อความ “เป็นธรรม” กับโรงสีและผู้ส่งออก ต้องยอมรับว่า ราคา “ข้าวขาว 5%” ของไทยในตลาดโลก ปรับลดลงจริง โดยเดือน ก.ย.2567 ขายกันอยู่ที่ราคา 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ ณ วันที่ 2 ต.ค.2567 ราคาลดลงเหลือ 509 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงมาเกือบ 60 เหรียญสหรัฐต่อตัน
         


ขณะที่ราคาข้าวของคู่แข่ง เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 539-543 , 492-496 และ 508-512 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ
         
ทำให้ทุกสายตา “จับจ้อง” ไปที่ข้าวเปลือกนาปีที่กำลังจะ “ออกสู่ตลาด” ราคาจะเป็นอย่างไร
         
นายวิทยากร มณีเนตร ว่าที่อธิบดีกรมการค้าภายใน” รีบออกมา “ดับไฟ” ข่าวอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% ก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต โดยระบุว่า การอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% และกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น “ผลดี” มากกว่า “ผลเสีย” ทั้งต่อ “ตลาดข้าวโลก” และ “ตลาดข้าวไทย” เพราะราคายังอยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่อินเดียจะประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ในปี 2566 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่เพียง 360-370 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น นั่นหมายความว่า จะไม่มีการแข่งขันกันดัมป์ราคา
         
ส่วน “ราคาข้าวเปลือก” ในประเทศ จากการติดตามสถานการณ์ราคาร่วมกับโรงสีและผู้ส่งออก พบว่า ราคามีการชะงักในช่วงแรกจริง จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายส่งออกข้าวของอินเดีย แต่ล่าสุด ราคาได้กลับมาเป็นปกติแล้ว และมั่นใจว่าจะไม่ต่ำลงไปมากกว่านี้
         
ปัจจุบัน “ราคาข้าวเปลือกเจ้า” ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 9,100–10,000 บาทต่อตัน ข้าวเกี่ยวสด ความชื้น 30% ราคา 7,000–7,750 บาทต่อตัน บางพื้นที่ ๆ ข้าวประสบปัญหาอุทกภัย จมน้ำ เร่งเก็บเกี่ยว ราคาจะลดลงมาตามคุณภาพ ส่วน “ข้าวเปลือกหอมมะลิ” และ “ข้าวเปลือกเหนียว” ราคาก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,900 บาทต่อตัน

พร้อมกับยืนยันว่า “กรมการค้าภายใน” จะ “ติดตาม-ดูแล” การซื้อขายข้าวปลือกอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องของการ “ปิดป้าย” แสดงราคารับซื้อ ความถูกต้องของ “เครื่องชั่งน้ำหนัก” และ “เครื่องวัดความชื้น” หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขาย หรือพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด มีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569 และขอยืนยันว่าผู้ประกอบการรายใดจงใจที่จะทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         


สำหรับ “มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 2567/68” กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ “คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)” ได้เตรียม “มาตรการ” ไว้แล้ว  
         
มาตรการที่มาแน่ ๆ คือ มาตรการ “เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง” ที่จะเป็น “มาตรการหลัก” ช่วยชะลอข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนมาตรการให้สินเชื่อรวบรวมข้าว การชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อกข้าว จะมีเงื่อนไขยังไง หรือมาตรการที่เกษตรกรเรียกร้องอย่าง “โครงการไร่ละ 1,000” จะมาหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
         
แต่สิ่งที่จะช่วย “รับประกัน” ว่าราคาข้าวเปลือก จะไม่ตกต่ำ นอกจากมาตรการพยุงราคาที่จะมีออกมา ยังได้รับ “ผลดี” จากความต้องการ “ซื้อข้าวไทย” จากตลาดโลก ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนปีนี้ ได้ขยับเป้าส่งออกเพิ่มเป็น 8.2 ล้านตัน ทำให้ผู้ส่งออก ต้องเพิ่มการซื้อข้าวมากขึ้น ถือเป็น “แรงฉุด” ราคาข้าวเปลือกอีกทางหนึ่ง
         
ก็อย่างที่รู้กันตาม “ปฏิทินสินค้าเกษตร” นับถอยหลังจากนี้อีกไม่กี่วัน ข้าวเปลือกจะเริ่มออกสู่ตลาดเป็นอย่างมาก และมากที่สุด   
         
แล้วปีนี้ ไม่เหมือนปีก่อน ที่ตลาดโลกเป็นใจ หลายประเทศเพิ่มสต๊อก เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ข้าวขายดี ได้ราคาดี และที่สำคัญอินเดีย ยังไม่ได้เข้ามาแข่ง แต่นับจากนี้ คู่แข่งมากันครบ โดยเฉพาะอินเดียที่พร้อมเข้าสู่สนาม
         
มาตรการดูแลที่กำลังจะออกมา จะ “เอาอยู่” หรือไม่ ราคาข้าวจะไปในทิศทางไหน

เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง