​“พาณิชย์”ทุ่มกำลังฟื้นฟูน้ำท่วม

img

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ “น้ำท่วม” เริ่มจากเดือน ส.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยท่วมแล้วลด แล้วกลับมาท่วมใหม่ ในหลายจังหวัด ทั้งภาคเหนือและอีสาน โดยเฉพาะ “เชียงใหม่-เชียงราย” ที่ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าจังหวัดอื่น
         
กระทรวงพาณิชย์” ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีมาตรการออกมาดูแลครบ ทั้ง “เกษตรกร-ประชาชน-ผู้ประกอบการ
         
โดยสิ่งที่ “ทำทันที” คือ การดูแล “สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ” ป้องกัน “ไม่ให้ขาด-ไม่ให้แพง” และ “ไม่ให้มีการฉวยโอกาส” เอาเปรียบผู้บริโภค
         
ส่วนสินค้าอะไร ที่ได้รับรายงานว่า มีการ “ปรับขึ้นราคา-ขายแพง” ก็ส่ง “ม้าเร็ว” ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และหาทางสกัดทันที ทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่กล้า เพราะรู้ว่ามีสายตา “จับจ้อง” อยู่
         
พร้อมกันนี้ ได้หารือกับ “ห้างค้าส่งค้าปลีก-ห้างท้องถิ่น-ร้านสะดวกซื้อ-ห้างจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง” และ “ผู้ประกอบการขนส่ง” เตรียมความพร้อม ป้อนสินค้าเข้าพื้นที่น้ำท่วม ดูแลเรื่องการขนส่ง อย่าให้สินค้าขาด ทำให้ไม่เคยมีปัญหาสินค้าขาดแคลนเกิดขึ้น
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ขอความร่วมมือห้าง ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ให้จัด “โปรโมชัน” ลดราคา “วัสดุก่อสร้าง-อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเรือน” แบบจัดหนักจัดเต็มกว่าช่วงปกติ รวมไปถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในพื้นที่เกิดอุทกภัยด้วย
         
ทางด้านการกำกับดูแล มี “กรมการค้าภายใน” มี “สำนักงานพาณิชย์จังหวัด” จัดทีมเข้าไปตรวจสอบดูแลการปิดป้ายแสดงราคาสินค้า เข้มงวดไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง หากพบการ “กระทำผิด” จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด
         


โทษตามกฎหมาย กรณี “ไม่ปิดป้ายแสดงราคา” จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณี “จำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร” จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         
สำหรับมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ทุกกรม ไปพิจารณาว่าจะ “ช่วยเหลือ-ฟื้นฟู” เกษตรกร ประชาชน ผู้ประกอบการได้ยังไง วิธีการไหนบ้าง และให้ทำเป็นวาระ “เร่งด่วน
         
ที่ดำเนินการมาแล้ว อาทิ การจัดส่ง “ถุงยังชีพ” เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย เช่น ข้าวสาร ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมกล่อง น้ำเปล่า น้ำมันหมู น้ำยาซักผ้า ทิชชู แปรงสีฟัน และยาสีฟัน เป็นต้น
         
ตามด้วยจัด “ถุงทำความสะอาด” บรรจุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำความสะอาดบ้านเรือน เช่น ไม้แปรงขัดพื้น ไม้รีดน้ำ น้ำยาล้างพื้น น้ำยาซักผ้า ผ้าห่ม ฟูกที่นอน เป็นต้น ไปมอบให้กับประชาชน
         
โดยทั้ง “ถุงยังชีพ-ถุงทำความสะอาด” ต้องขอขอบคุณ “ภาคเอกชน” ที่ให้การสนับสนุน แต่ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ก็คือ  “ข้าราชการ-ทีมงาน” ที่ “อยู่เบื้องหลัง” การประสานงานในครั้งนี้ จน “ทำได้ไว ทำได้จริง ทันสถานการณ์
         
มาถึงการดูแล “พืชผลทางการเกษตร” กรมการค้าภายในได้เข้าไปติดตามสถานการณ์ผลผลิตทางการเกษตร ทั้ง “พืชหลัก-พืชรอง” ตัวไหนมีปัญหาถูกน้ำท่วม ต้องรีบเก็บเกี่ยว หรือเกษตรกรไม่มีที่ขาย ก็ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อทันที และยังดูแลไม่ให้เกษตรกรถูกกดราคา และโดนเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย
         


การดูแล “ประชาชน” ที่ได้รับผลกระทบ ขาดรายได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำ “แฟรนไชส์” เข้าไปช่วย เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการมีอาชีพ มีธุรกิจเป็นของตนเอง สามารถซื้อแฟรนไชส์ได้ในราคาถูกกว่าปกติ ทำให้มีงานทำ และมีรายได้ทันที พร้อมกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจ โดย “ผ่อนผัน” การส่งเอกสารทางบัญชี การส่งงบการเงิน และการยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลที่ต้องยื่นตามที่กฎหมายกำหนด
         
ส่วนการฟื้นฟูในด้านอื่น ๆ ได้ประสานห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ นำสินค้ามาจำหน่าย เพื่อช่วยระบายสต๊อก และเพิ่มรายได้ ซึ่งห้างใน จ.เชียงใหม่ ได้รับลูก และให้ความช่วยเหลือแล้ว
         
นอกจากนี้ ได้เตรียมการจัด “ธงฟ้าราคาประหยัด” นำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าทำความสะอาดบ้านเรือน ไปจำหน่ายในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยทันที เมื่อน้ำลด เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

ในส่วน “พื้นที่ห่างไกล” และ “เข้าถึงยาก” ให้จัด “โมบายธงฟ้า” นำสินค้าวิ่งเข้าไปจำหน่าย เพื่อดูแลประชาชนให้ครบถ้วน และยังจะร่วมมือกับห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น จัดโปรโมชันลดราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

นายพิชัย บอกว่า มาตรการดูแล “เกษตรกร-ประชาชน-ผู้ประกอบการ” จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และหากมีความจำเป็นก็จะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือใหม่ ๆ เข้ามา  

มีเป้าหมาย คือ ต้องเร่ง “ฟื้นฟู” ให้เกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ

กลับมา “ยืนได้” โดยเร็ว
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง