​ลุยสินค้านำเข้า-ธุรกิจผิดกฎหมาย

img

หากจำกันได้” ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล“เศรษฐา ทวีสิน” กับรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ที่ยังไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ ได้มีการ “รับทราบ” ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ “มาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

โดยเรื่องนี้ รัฐบาลถือเป็น “เรื่องใหญ่” เพราะมีข้อ “ร้องเรียน” จาก “ภาคธุรกิจ” และ “ผู้บริโภค” เกี่ยวกับธุรกิจและสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบ “ออนไลน์” และ “ออฟไลน์” ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน จนส่ง “ผลกระทบ” ต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจและสินค้าต่างชาติได้ รวมทั้งมี “ความห่วงใย” ที่ผู้บริโภคจะได้รับบริการและสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน
         
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ช่วงที่รัฐบาลเศรษฐาปฏิบัติหน้าที่ ได้มีมติ ครม. วันที่ 13 ส.ค.2567 มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา “มาตรการกำกับดูแล” ในเรื่องดังกล่าว

จากนั้น “กระทรวงพาณิชย์” ได้เป็น “เจ้าภาพ” จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือ “ข้อเสนอแนะ มาตรการ แนวทางแก้ไขปัญหา” และจบด้วยการประชุมร่วมกับ “หัวหน้าส่วนราชการ” ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเคาะ 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการออกมา
         
สรุปสั้น ๆ แบบเข้าใจง่าย คือ 1.ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้น อาทิ ตรวจตู้สินค้า บังคับใช้มาตรการ มอก. และ อย. 2.ให้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต อาทิ กำหนดให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดและจัดตั้งนิติบุคคลในไทย 3.ใช้มาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG) เป็นต้น 4.ใช้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่านอีคอมเมิร์ซ 5.สร้าง ต่อยอด ความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ในด้านการค้าออนไลน์
         


พร้อมกันนี้ ครม. ได้มีมติให้ทุกหน่วยงาน ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ทันที และให้รายงานผลเป็นรายสัปดาห์ และให้ประชุมหารือความคืบหน้าทุก 2 สัปดาห์
         
แต่ “ได้เลื่อน” การพิจารณา เรื่อง “การตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย” ออกไปก่อน โดยมีเหตุผลว่าตั้งไปแล้ว พอมีรัฐบาลใหม่ ก็ต้องตั้งใหม่ เพราะอาจมีการเปลี่ยนตัวบุคคลที่กำกับดูแล หรือบุคคลที่จะเข้ามาทำงาน
         
ล่าสุด “น.ส.แพทองธาร” ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์เฉพาะกิจ” ที่จะเข้ามาดูแล แก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายแล้ว
         
โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
         
หน้าที่หลัก ๆ มีอำนาจในการกำหนด “นโยบาย” และ “มาตรการ” ที่จำเป็นเร่งด่วน ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศ และการทำธุรกิจผิดกฎหมาย ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
         


นายพิชัย บอกว่า เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และธุรกิจต่างประเทศที่ทำผิดกฎหมาย จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแล ขับเคลื่อนผ่านกลไกภายใต้คณะกรรมการ เพื่อดำเนินการเชิงรุก และแก้ไขปัญหาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าให้มีความคืบหน้าชัดเจนภายใน 3 เดือน
         
ทั้งนี้ จะเรียกประชุมนัดแรกวันที่ 30 ต.ค.2567 เพื่อติดตามการดำเนินมาตรการต่าง ๆ และรับฟังปัญหา อุปสรรค ในการทำงาน และพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว
         
รอมาเกือบ 2 เดือน จากช่วงรอยต่อรัฐบาล
         
ก็ไม่รู้ว่า ช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ 5 มาตรการ 63 แผนปฏิบัติการ ทำงานกันไปมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มี “เจ้าภาพ” คอยเกาะ คอยติด คอยตาม  
         
แต่นับจากนี้ เจ้าภาพมีแล้ว นายพิชัยเอง ก็พูดชัดเจน เรื่องนี้ “สำคัญ” เรื่องนี้ “เรื่องใหญ่” ต้องจัดการ “ให้ชัดเจน”  เพราะผู้ประกอบการ SME ผู้บริโภครอดูอยู่

โดยมีหลัก ทุก ๆ แผนงาน ทุก ๆ มาตรการ จะดำเนินการบนพื้นฐาน “ความเสมอภาค-ความเท่าเทียม” ไม่ได้เจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่ง และมี “เป้าหมาย” เพื่อดูแลผู้ประกอบการคนไทย และผู้บริโภคคนไทย
         
เห็นความขึงขังแบบนี้แล้ว
         
ผู้ประกอบการ SME ผู้บริโภค คงเบาใจได้

จากนี้คงได้เห็นการ “จัดระเบียบ” สินค้านำเข้า-ธุรกิจผิดกฎหมาย แบบจริง ๆ จัง ๆ   
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง