​Soft Power พลิกโฉมประเทศไทย

img

ต้องยอมรับว่าช่วงนี้ กระแส “Soft Power” แรงจริง
         
หลังจาก “มิลลิ” นำ “ข้าวเหนียมมะม่วง” ไปกินบนเวที Coachella

ไม่เพียงทำให้ข้าวเหนียวมะม่วง ติดเทรนด์การ “ค้นหา” ทั้งในและต่างประเทศ

แต่จากกระแสดังกล่าว ได้ส่งผลดีถึง “มะม่วง” ซึ่งเดิมมี “ปัญหา” ด้าน “ราคาตกต่ำ” สถานการณ์ “ตีกลับ” ราคาดีดตัวสูงขึ้นทันที โดยเฉพาะ “มะม่วงน้ำดอกไม้” ที่นิยมบริโภคกับข้าวเหนียว
         
รวมถึง “ข้าวเหนียว” ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
         
เรียกว่า รับอานิสงค์กันไปตาม ๆ กัน
         
จนหน่วยงานภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงาน ต่าง “โหนกระแส” Soft Power กันยกใหญ่ มีแผน มีเป้าหมาย จะทำ “โน่น นั่น นี่” ก็ว่ากันไป
         
กลับมาที่ “กระทรวงพาณิชย์” ต้องออกตัวก่อน ไม่ได้อวย เดี๋ยวจะหาว่า “เข้าข้างกัน” จนเกินเหตุ

เรื่องการผลักดัน Soft Power ถ้าตามข่าวกันใกล้ชิด จะพบว่า กระทรวงพาณิชย์ทำมานานหลายปีแล้ว มีการกำหนด “นโยบาย” และ “แผนงาน” ในแต่ละช่วง แต่ละเวลา เอาไว้อย่างชัดเจน
         
อย่างปีงบประมาณ 2565 “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้ประกาศนโยบาย “ขับเคลื่อน” เอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

พูดชัด ๆ จะ “ผลักดัน Soft Power” ให้เป็น “ธงนำ” นำรายได้เข้าประเทศ
         
ยุทธศาสตร์ที่จะ “ดำเนินการ” จะใช้ “จุดแข็ง” ของประเทศไทย ทั้ง “อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย” ผลักดันออกสู่สายตาของชาวโลก และสร้างรายได้เข้าประเทศ
         
ยุทธศาสตร์เหล่านี้ ได้ถูกแปลงลงสู่ “ภาคปฏิบัติ” โดย “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
         
ปรากฏผล “การดำเนินการ” เป็นที่ชัดเจน จับต้องได้



ช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-มี.ค.2565) สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศผ่าน Soft power แล้ว 3,905 ล้านบาท จาก 4 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร (รวมผลไม้) ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย
         
มี “กิจกรรม” เด่น ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และได้ผล “ตอบรับ” เป็นอย่างดีราว ๆ 6-7 กิจกรรม
         
เริ่มจากโครงการ “ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการอาหารไทยในต่างประเทศ” ใช้รูปแบบการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ “Thai Select” ร่วมกับร้านอาหารและผู้นำเข้าอาหารไทย ดำเนินการไปแล้วใน 16 ประเทศ
เสียงตอบรับดีมาก ส่งผลให้ “อาหารไทย” และ “วัตถุดิบอาหารไทย” ขายดีมากขึ้น ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 

โครงการต่อมา “การส่งเสริมตลาดธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องสู่ตลาดต่างประเทศ” เน้นการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน และคาแรคเตอร์ของไทย ดำเนินการไปแล้ว 4 โครงการ สร้างมูลค่าการค้าเป็นกอบเป็นกำ 1,181 ล้านบาท
         
โครงการ “ส่งเสริม Wellness Medical Service สุขภาพความงาม” ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน โดยการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้า “เครื่องสำอาง” และ “ผลิตภัณฑ์สปา สมุนไพร” ได้รับการตอบรับดีเช่นเดียวกัน
         
โครงการ “บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อสร้าง Mindset ด้าน Soft Power” ผ่านโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) และ Salesman จังหวัด Go Intern ได้พัฒนาผู้ประกอบการและ Salesman จังหวัดยุคใหม่แล้ว 1,652 ราย
         
​​โครงการ “ส่งเสริมสินค้าสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ไทย” ผ่านโครงการส่งเสริมนักออกแบบสินค้า บริการนวัตกรรม และพัฒนาส่งเสริมสินค้า OTOP ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าและผู้ประกอบการ
         
โครงการ “ส่งเสริมแบรนด์ประเทศไทย” ผ่านตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ตอนนี้ กำลังดำเนินการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการศักยภาพไทยสู่ตลาดโลก
         


ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทย ได้จัดกิจกรรม “เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์” ผลไม้ “ภาคตะวันออก” กับผู้นำเข้าทั่วโลกแล้ว 2 ครั้ง กำหนดจัดอีกครั้งเดือนก.ค.2565 สำหรับผลไม้ “ภาคใต้” และ “ภาคเหนือ
         
ทั้งนี้ ยังมีแผนที่จะจัด “กิจกรรมส่งเสริมการขาย” ร่วมกับ “ห้างสรรพสินค้า” ในต่างประเทศ 9 โครงการ
         
ดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการ คือ 1.งาน Taste of Thailand ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 8-28 เม.ย.2565 สินค้ายอดนิยม ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียนและสับปะรด และ 2.เทศกาลอาหารและผลไม้ไทย ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 7-20 เม.ย.2565 ร่วมมือกับ Breeze super ซุปเปอร์มาร์เก็ตไฮเอนด์ เปิดตัวทุเรียนสดพร้อมทานจากไทยขายในไต้หวันครั้งแรก

และช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2565 มีกำหนดจะจัดกิจกรรม “Thai Fruit Golden Months” ส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ใน 13 เมืองกระจายทั่วประเทศจีน เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการส่งออกผลไม้ไทย
         
ตั้งเป้าหมาย “ยอดขาย” พุ่งกระฉูด และยังเป็นการ “รองรับ” ฤดูผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” บอกว่า จากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่จะขับเคลื่อน Soft Power และ “ยืนยัน” จะทำอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดัน Soft Power ไทยออกสู่สายตาชาวโลก
         
ตั้ง “เป้าหมาย” ใช้ Soft Power เป็นตัว “เปลี่ยนเกม” และ “พลิกโฉมหน้า” การเพิ่มรายได้เข้าประเทศ ผ่านอาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย
         
รวมไปถึงการขับเคลื่อนผ่าน “ธุรกิจภาพยนตร์” และ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่จะทำให้มีการ “ตามรอย” ภาพยนตร์ ซีรีส์ การบริโภคอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทย  
         
เพราะถ้าทำ “สำเร็จ” จะสร้าง “รายได้” อีกมหาศาล เหมือนกับที่ “เกาหลีใต้” ทำสำเร็จมาแล้ว
         
นโยบาย” ชัด “แผนขับเคลื่อน” ชัด
         
เรียกว่า มา “ถูกทิศ ถูกทาง” ก็ขอเอาใจช่วย ทำให้สำเร็จ  
         
อยากเห็น “การพลิกโฉมหน้าประเทศไทย” ด้วย Soft Power เร็ว ๆ  
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด