​สินค้า GI ไทยโกอินเตอร์

img

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี “สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน และสินค้าท้องถิ่น” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” แล้ว 154 รายการ
         
พูดได้ว่า “ทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย” มีสินค้า GI เชิดหน้าชูตา ครบทุกจังหวัดแล้ว  
         
ผลจากการมีสินค้า GI สามารถสร้างมูลค่าตลาดรวมได้เกือบ 40,000 ล้านบาท ช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น มีรายได้เพิ่มขึ้น
         
กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ยังมีแผนผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน GI เพิ่มขึ้นอีก เพื่อเดินหน้า “สร้างรายได้” ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายที่ได้รับจาก “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์”  
         
โดยปี 2565 ตั้งเป้าไว้ที่ 18 รายการ ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว 4 รายการ คือ ครกหินแกรนิตตาก จ.ตาก และเผือกหอมบ้านหมอ จ.สระบุรี ส่วนอีก 2 รายการ อดใจรออีกนิด กรมทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะออกสื่อในเร็ว ๆ นี้
         
ถ้ารวม 2 รายการหลัง ก็จะมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ทั้งหมด 156 รายการ
         
ส่วนอีกประมาณ 14 รายการ อยู่ในเป้าปี 2565 ที่รอการขึ้นทะเบียน เช่น ส้มโอปราจีน มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน ผ้าไหมปักธงชัย จ.นครราชสีมา ผ้าไหมสาเกต จ.ร้อยเอ็ด มันแกวบรบือ จ.มหาสารคาม พุทรานมบ้านโพน จ.กาฬสินธุ์ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบ จ.สงขลา และสับปะรดศรีเชียงใหม่ เป็นต้น
         
นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังมีแผนลงพื้นที่ ไปดู “แหล่งผลิต” ไปรับฟัง “ข้อเท็จจริง” และ “ตรวจสอบสินค้าที่มีโอกาส” ที่จะขึ้นทะเบียน GI มีเป้าหมายจำนวน 20 รายการ
         
ยกตัวอย่างเช่น ทุเรียนทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี ข้าวหอมไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ลำไยจันท์ จ.จันทบุรี ผลิตภัณฑ์กระจูดเมืองแกลง จ.ระยอง ผ้าอุทัยธานี จ.อุทัยธานี หินอ่อนพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร พริกกะเหรี่ยงท่าสองยาง ทุเรียนน้ำแร่พบพระ จ.ตาก โคขุนดอกคำใต้ จ.พะเยา มะม่วงน้ำดอกไม้พิจิตร จ.พิจิตร และกะปิปากจก จ.พังงา เป็นต้น
         
รวมทั้งมีแผนช่วย “จัดทำคำขอขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่” เป้าหมาย 6 สินค้า ได้แก่ ครุน้อยศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ มะม่วงน้ำดอกไม้ชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ กล้วยหอมทองหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ทุเรียนทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ปลานิลแม่น้ำโขง จ.หนองคาย  
         


ทางด้าน “การจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า GI” มีเป้าหมายจัดทำระบบควบคุมภายใน 8 รายการ ได้แก่ ชมพู่เพชร จ.เพชรบุรี  มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ส้มแม่สิน จ.สุโขทัย กลองเอกราช จ.อ่างทอง เครื่องเคลือบเวียงกาหลง จ.เชียงราย มังคุดในวงระนอง จ.ระนอง ข้าวหอมปทุมธานี จ.ปทุมธานี

จัดทำระบบควบคุมตรวจสอบตามมาตรฐานสากล” 2 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.มหาสาราคาม และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อผ่านการ “ตรวจรับรอง” แล้ว ผู้ประกอบการสามารถขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทยได้ โดยปัจจุบันมีการออกหนังสืออนุญาตแล้ว 7,729 ราย

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียน GI นอกจากช่วย “เพิ่มมูลค่าตลาดในประเทศ” แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รายงานว่า ปัจจุบันมี “การส่งออกสินค้า GI” ไปขายต่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น

ปี 2564 ที่ผ่านมา มียอดส่งออกสินค้า GI ทุกรายการ รวม 5,406,594,788 บาท

สินค้า GI ที่เป็น “แชมป์ส่งออก” และสร้างรายได้เข้าประเทศแบบนำโด่ง ก็คือ “มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” ส่งออกได้สูงถึงมูลค่า 3,495 ล้านบาท ได้รับความนิยมในตลาด “จีน” และ “สหรัฐฯ

รองลงมา คือ “มะขามหวานเพชรบูรณ์” มูลค่า 300 ล้านบาท ส่งออกไปจีน เวียดนาม ยุโรป

กล้วยหอมทองปทุม” มูลค่า 197 ล้านบาท ส่งออกไปจีน

ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม” มูลค่า 200 ล้านบาท ส่งออกไปจีน

ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง” มูลค่า 138 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ไต้หวัน และฮ่องกง

รวม ๆ 5 รายการ ยอดส่งออกก็ปาเข้าไปกว่า 4,300 ล้านบาท

ที่เหลืออีกประมาณ 1,000 กว่าล้าน เป็นการส่งออกสินค้า GI อีกราว ๆ 20 รายการ ที่มียอดส่งออกตั้งแต่ “หลักแสน” ไปจนถึง “หลักล้าน” และ “หลายสิบล้าน
 
และยังมีสินค้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียน GI แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และมีการส่งออกได้แล้ว ที่เด่น ๆ เลย เช่น กล้วยหอมทองเพชรบุรี กล้วยหอมทองละแม กล้วยหอมทองพบพระ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านแฮดขอนแก่น อะโวคาโดตาก ทุเรียนหมอนทองระยอง เป็นต้น
         


น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” บอกว่า เมื่อมีการส่งออกได้มากขึ้น ก็ต้องดูเรื่อง “การคุ้มครอง” และการป้องกัน “การละเมิด
         
ตอนนี้ มีการยื่นจด GI ในต่างประเทศและได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 7 สินค้า ใน 5 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เวียดนาม สินค้าเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน มะขามหวานเพชรบูรณ์ กัมพูชา สินค้ากาแฟดอยตุง อินโดนีเซีย สินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูน และอินเดีย สินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูน
         
มีสินค้าที่อยู่ระหว่างพิจารณารับจดทะเบียนอีก 10 สินค้า ใน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง

อินโดนีเซีย สินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง

เวียดนาม สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน

ญี่ปุ่น สินค้ากาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง สับปะรดห้วยมุ่น

จีน สินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ทุเรียนปราจีน และมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ที่เพิ่งคว้าแชมป์ส่งออกมาหมาด ๆ

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำคำขอสินค้าไวน์เขาใหญ่ ในสหภาพยุโรป

วันนี้ สินค้า GI ไทย ไม่เพียงช่วย “เพิ่มรายได้ภายในประเทศ” ทำให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียน แต่ยังเริ่ม “ทำรายได้จากต่างประเทศ” เข้ามาเพิ่ม

กรมทรัพย์สินทางปัญญา” นอกจากตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ยังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสินค้า GI ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นด้วย 
         
โดยจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการจดทะเบียนคุ้มครอง GI ไทยในต่างประเทศ
         
หวังว่า จะได้เห็น “สินค้า GI ไทย” โกอินเตอร์ได้เพิ่มขึ้น
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด