​ใช้สิทธิ์ FTA ก่อนส่งออก-นำเข้า

img

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา “นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากรับตำแหน่งอธิบดี
         
เปิดแถลงข่าวด้วยเรื่อง “การใช้สิทธิ์ FTA และ GSP ในการส่งออก” ของทั้งปี 2564  
         
ปรากฏว่า ตัวเลขการใช้สิทธิ์ FTA ส่งออก “ดีเกินคาด” เฉพาะ FTA มีมูลค่ารวม 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.40% เป็นมูลค่าการใช้สิทธิ์ “สูงทื่สุดในรอบ 6 ปี
         
คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์สูงถึง 78.17% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด
         
หากแยกเป็นรายตลาด พบว่า อาเซียน มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด มูลค่า 26,280.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 35.91% ตามด้วย จีน มูลค่า 25,327.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33.61% ออสเตรเลีย มูลค่า 8,474.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 21.28% ญี่ปุ่น มูลค่า 7,045.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.46% และอินเดีย มูลค่า 4,899.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 48.17%
         
ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ขนส่งของ ใช้สิทธิ์ไปออสเตรเลีย ทุเรียนสด ใช้สิทธิ์ไปจีน รถยนต์ขนส่งบุคคล ใช้สิทธิ์ไปออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์ยาง ใช้สิทธิ์ไปจีน เนื้อไก่และเครื่องในไก่ ใช้สิทธิ์ไปญี่ปุ่น
         
ทางด้านการนำเข้า มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ FTA รวม 44,871.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.51% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 25.63% ซึ่งถือว่า “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับการได้สิทธิ์ทั้งหมด 
         
โดยการนำเข้าสินค้าจากจีน มีการขอใช้สิทธิ์ FTA มูลค่ามากที่สุด 18,528.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เหล็ก สิ่งก่อสร้าง แอปเปิ้ล ล้อและส่วนประกอบ หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดง
         
รองลงมา คือ อาเซียน ใช้สิทธิ์มูลค่า 11,043.68 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าอาหารปรุงแต่ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เครื่องรับสำหรับโทรทัศน์ และลวดทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์
         


ถัดมาเป็นญี่ปุ่น ใช้สิทธิ์มูลค่า 9,638.83 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าเหล็กและตัวก่อปฏิกิริยา พวงมาลัย แกนพวงมาลัย และกระปุกเกียร์ เป็นต้น
         
ที่เหลืออีกไม่มาก มูลค่า 5,660.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA กับประเทศอื่น ๆ
         
ส่วนการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้งปี 2564 มีมูลค่า 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 28.14% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 61.94%
         
โดยเป็นการใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด มูลค่า 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 31.65% คิดเป็น 91.82% ของการส่งออกโดยใช้สิทธิ์ GSP ทั้งหมด
         
ส่วนการใช้สิทธิ์รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 259.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.01% กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มูลค่า 20.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 25.27% และนอร์เวย์ มูลค่า 15.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.12%

สินค้าที่มีการใช้สิทธิ์ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง กรดซิทริก และเลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ
         
นายพิทักษ์ บอกว่า การส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมี FTA และได้รับสิทธิ์ GSP ผู้ส่งออกต้องตรวจสอบก่อนว่าอัตราภาษีเป็นเท่าใด กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นอย่างไร
         
หากสินค้าตัวเดียวกัน ได้สิทธิ์ลดภาษีภายใต้ FTA หลายฉบับ ก็ต้องดูว่า FTA ไหนภาษีต่ำที่สุด แล้วใช้สิทธิ์ได้ง่ายที่สุด
         
ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ไทยมี FTA กับญี่ปุ่นถึง 3 ฉบับ ได้แก่ ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา
         


ก็ต้องไปดูว่า สินค้าที่ผู้ส่งออกผลิต ได้สิทธิ์ FTA ฉบับไหนดีที่สุด เมื่อจะส่งออกไปญี่ปุ่น ก็เลือกใช้สิทธิ์ FTA ฉบับนั้น
         
หรืออย่าง RCEP ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ล่าสุด FTA ฉบับนี้ มีการปรับปรุงเงื่อนไข “กฎถิ่นกำเนิดสินค้า” ให้ “ง่ายขึ้น” และ “สะดวกขึ้น
         
การผลิตสินค้า เพื่อให้ได้สิทธิ์ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ก็ทำได้ง่ายขึ้น

ผู้ส่งออก ก็ต้องเลือกว่าจะใช้ FTA ที่มีอยู่เดิม หรือจะใช้ RCEP ที่เป็น FTA ฉบับใหม่ เพื่อส่งออกไปยังอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

เพราะอัตราภาษีที่ต่ำกว่า หรือเงื่อนไขกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ดีกว่า จะช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น

ส่วนการนำเข้า ก็ต้องดูว่า การนำเข้าจากประเทศไหนได้ลดภาษีภายใต้ FTA ต่ำสุด แล้วก็ขอใช้สิทธิ์นำเข้า เพื่อเป็นการลดต้นทุน โดยเฉพาะการนำเข้า “สินค้าทุน” และ “วัตถุดิบ

ทางด้านการใช้สิทธิ์ GSP ก็เช่นเดียวกัน ก่อนส่งออกไปยัง 4 ประเทศ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ต้องขอใช้สิทธิ์ GSP ก่อนส่งออก  

เพราะคู่แข่งไทยอีกหลายประเทศ ไม่ได้ GSP การใช้สิทธิ์ GSP จะทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบ และแข่งขันได้ดีขึ้น

ขณะที่การอำนวยความสะดวกในการขอใช้สิทธิ์ ทั้ง FTA และ GSP “กรมการค้าต่างประเทศ” ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้การขอใช้สิทธิ์ทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง
         
สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ จะส่งออก-นำเข้า อย่าลืมใช้สิทธิ์ FTA และ GSP ก็แล้วกัน
         
ได้มากกว่าเสียแน่นอน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด