ประเทศไทย “เสียแชมป์” ส่งออกข้าวให้กับ “อินเดีย” มาแล้วหลายปี
บางปี เป็นรอง “เวียดนาม” หล่นมาอยู่อันดับที่ 3 ด้วยซ้ำ
ทันทีที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เข้ามากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์
หนึ่งในภารกิจเร่งด่วน ก็คือ “การทวงคืนตลาดข้าวไทย” จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย”
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ข้าวไทยได้ทำสำเร็จเมื่อปลายปี 2563 เป็นการวางยุทธศาสตร์ 5 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-67
การดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เน้นกลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” แบ่งข้าวออกเป็น 7 ชนิด ตามความต้องการของตลาด ได้แก่ “ตลาดพรีเมียม” ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิไทย “ตลาดทั่วไป” ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง และ “ตลาดเฉพาะ” ข้าวเหนียว ข้าวสีและข้าวคุณลักษณะพิเศษ
มีพันธกิจที่จะดำเนินการใน 4 ด้าน คือ
1.ตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นในเรื่องการสนองต่อความหลากหลายของตลาดข้าว
2.ตลาดในประเทศ สร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศทั้งในด้านซัปพลายและดีมานด์
3.ด้านการผลิต ลดต้นทุนการผลิตจาก 6,000 บาทต่อไร่ ให้เหลือไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท ภายใน 5 ปี เร่งเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ภายใน 5 ปี มุ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะ สั้น เตี้ย ดก ดี โดยมีข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์ และจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากปัจจุบันเฉลี่ย 450 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ เป็นเฉลี่ย 600 กก.ต่อไร่ ภายใน 5 ปี
4.การแปรรูปและนวัตกรรม จะมุ่งเน้นการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมจากข้าว เพื่อสนองความต้องการของตลาด
หลังจากยุทธศาสตร์มีความชัดเจน จนผ่านที่ประชุม นบข. (คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ) และ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ให้ความเห็นชอบ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติทันที
ที่มีความชัดเจนที่สุด ก็คือ การเร่งหา “ข้าวพันธุ์ใหม่”
โดยตลอดปี 2564 เป็นการ “ตามหา” และในปี 2565 เป็นการ “จัดประกวด”
สรุปมีผลงานที่ส่งเข้าประกวดถึง 48 สายพันธุ์ จาก 16 แหล่งวิจัยทั่วประเทศ
มีข้าวที่ได้รับรางวัลการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ 6 พันธุ์ ได้แก่
รางวัลชนะเลิศ ประเภทข้าวหอมไทย ได้แก่ ข้าวพันธุ์ PTT13030 ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
รางวัลชมเชย ประเภทข้าวหอมไทย ได้แก่ ข้าวพันธุ์ BioH95-CNT ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท
รางวัลชนะเลิศ ประเภทข้าวขาวพื้นนุ่ม ได้แก่ ข้าวพันธุ์ RJ44 บริษัท รวมใจพัฒนาความรู้ จำกัด (มูลนิธิรวมใจพัฒนา)
รางวัลชมเชย ประเภท ข้าวขาวพื้นนุ่ม ได้แก่ ข้าวพันธุ์ CNT15171 ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท
รางวัลชนะเลิศ ประเภทข้าวขาวพื้นแข็ง ได้แก่ ข้าวพันธุ์ PLS16348 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก
รางวัลชมเชย ประเภทข้าวขาวพื้นแข็ง ได้แก่ ข้าวพันธุ์ CNT07001 ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท
นายจุรินทร์ บอกว่า การจัดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2563-67 ที่ตั้งเป้าพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่อย่างน้อย 12 พันธุ์ ภายใน 5 ปี
แต่ผ่านมาแค่ปีกว่า ๆ หลังจากมียุทธศาสตร์ข้าวไทย ก็ได้มาแล้ว 6 พันธุ์
จากนี้ ตั้งเป้าเดินหน้าเพื่อนำไปสู่ “การปลูก” และต้องรีบไป “จดทะเบียนพันธุ์ ขึ้นทะเบียนพันธุ์” ที่กรมวิชาการเกษตร
ตั้งเป้าว่า “ไม่เกิน 1 ปี” ข้าวพันธุ์ใหม่จะลงสู่ “แปลงนาเกษตร” เพื่อการพาณิชย์ได้
หลังจากนั้น จะมีข้าวพันธุ์ใหม่ป้อนเข้าสู่ตลาด เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และจะส่งผลดีต่อตัวเลขการส่งออกข้าวไทยที่จะเพิ่มขึ้น
เพราะมีสินค้าข้าวไปแข่งกับคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีก 6 ตัว
ส่วนช่วงที่เป็น “รอยต่อ” ได้มีการจัดตั้ง “วอร์รูม” เพื่อติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด มี “กรมการค้าต่างประเทศ” เป็นหัวหน้าทีม
ในด้าน “การทำตลาด” มอบ “ทูตพาณิชย์” ทำการรวบรวมข้อมูลตลาดข้าวเชิงลึกเป็นการล่วงหน้า เพื่อนำมาวางแผนและกำหนดแผนการทำตลาดข้าวพันธุ์ใหม่
พร้อมมอบ “พาณิชย์จังหวัด” ร่วมกับ “เกษตรจังหวัด” ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบว่ามีข้าวพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว จะได้นำไปปลูก แล้วให้วางแผนประสาน “โรงสี” และ “ผู้ส่งออก” ให้รับรู้และเตรียมเข้ามาซื้อเป็นการล่วงหน้า
“ข้าวพันธุ์ใหม่” เริ่มนับหนึ่งแล้ว ซึ่งดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการตามหาข้าวพันธุ์ใหม่ที่เหลืออีก 6 สายพันธุ์ ตามเป้าหมายที่ยุทธศาสตร์ข้าวไทยกำหนดไว้
นั่นหมายความว่า จากนี้ไป ไทยจะมีข้าวที่หลากหลายขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้บริโภคในต่างประเทศได้มากขึ้น
เพราะที่ผ่านมา “ข้าวไทย” มีปัญหาการแข่งขันด้านราคา
ความหลากหลายของพันธุ์ข้าว “มีน้อย” ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า มีทางเลือกน้อย แต่คู่แข่งมีทางเลือกให้ ทำให้ “เริ่มสู้คู่แข่งไม่ได้”
แต่หลังจากมียุทธศาสตร์ข้าวไทย มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และจะ “เพิ่มขึ้น” อีกในอนาคต
ถึงเวลา “ทวงคืนตลาดข้าวไทย”
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง