​คุมเข้มชุดตรวจโควิด-19

img

วันนี้ มีความคืบหน้าเรื่องชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kid) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ATK หรือเอทีเค มาบอกกล่าว
         
คงจำกันได้ ก่อนหน้านี้ มีเสียงเรียกร้องให้ “กระทรวงพาณิชย์” เข้าไป “ควบคุม” เอทีเค กันอย่างล้นหลาม
         
เนื่องจากมีปัญหาราคาเพิ่มสูงขึ้น จนมีความกังวลว่าจะกระทบต่อ “ประชาชน” ที่ต้องจ่ายเงินซื้อไปใช้ตรวจโควิด-19 ในราคาแพง
         
แต่กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ฟันธงว่า “จะควบคุมหรือไม่ควบคุม” เพราะต้องรอหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อน
         
ขณะนี้ หลังมีการหารือใกล้ชิด ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้ว
         
แม้จะไม่เป็น “สินค้าควบคุม” แต่จะมีมาตรการควบคุม ที่เรียกได้ว่า “สุดเข้ม
         
โดยปัจจุบัน มีเอทีเคของผู้ประกอบการ 26 ราย ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว   
         
พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดย “กรมการค้าภายใน” ได้ดำเนินการคู่ขนาน ทำหนังสือถึงผู้นำเข้าเอทีเค ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. ให้แจ้ง “ต้นทุนนำเข้า” แล้วเช่นเดียวกัน
         
สำหรับราคานำเข้าที่ให้แจ้ง ให้รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และราคาที่จะขาย 
         
เป้าหมาย ก็เพื่อพิจารณาราคาขายที่เหมาะสม และประชาชนเข้าถึงได้ ไม่เป็นภาระจนเกินไป และผู้นำเข้า มีกำไรเพียงพอที่จะดึงดูดให้มีการนำเข้ามาจำหน่าย
         


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาราคาขายที่เหมาะสม
           
มีหลักว่า จะไม่กำหนดราคาเพดานสูงสุดเท่ากันในทุกยี่ห้อ เพราะเอทีเคที่นำเข้า มีหลายแบบ หลายคุณภาพ และต้นทุนนำเข้าต่างกัน
         
ถ้าต้นทุนต่ำ แล้วไปกำหนดให้ขายในราคาเท่ากับต้นทุนสูง ก็จะไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
         
ถ้าต้นทุนสูง แล้วให้ขายเท่ากับต้นทุนต่ำ ก็จะไม่เป็นธรรมกับผู้นำเข้าและผู้ค้า
         
แต่สรุปได้ง่าย ๆ ว่า ราคาต้องเหมาะสม เป็นธรรม ทั้งผู้บริโภค ผู้นำเข้าและผู้ค้า ซึ่งถือเป็น “หลัก” ในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์
         
สำหรับเอทีเค ที่ปัจจุบันมีวางจำหน่ายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือตามตลาดมืด หรือร้านค้าทั่วไป ถือเป็น “สินค้าที่ผิดกฎหมาย” ของกระทรวงสาธารณสุข และ “เป็นสินค้าที่ไม่รู้ว่ามีมาตรฐาน” หรือไม่
         
เพราะเอทีเคที่นำเข้ามาถูกต้อง ต้องเป็นเอทีเคที่ได้รับการรับรองจาก อย. และวางขายใน “ร้านขายยา” ที่มีเภสัชกรแนะนำเท่านั้น

ส่วนหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ตอนนี้ จะตาม “ไล่จับ” พวก “ค้ากำไรเกินควร
         
ใช้อำนาจตามมาตรา 29 ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
         
เป้าทำงาน ตามทั้งพวกที่ขายเถื่อน หรือถ้าเป็นสินค้าที่นำเข้าถูกต้อง ขายผ่านร้านขายยาถูกต้อง แต่ถ้า “โก่งราคา” ก็ไม่เว้น
         


มีโทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         
เพราะฉะนั้น อย่าได้ “หาทำ” เพราะโดนจับแล้ว “จะได้ไม่คุ้มเสีย
         
แล้วถ้าใครพบเจอ พบเห็น หรือรู้เบาะแส ร้านที่จำหน่ายโก่งราคา ก็แจ้งสายตรง 1569 ได้เลย ถ้าต่างจังหวัด แจ้งที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
         
สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ต้องการทราบราคาเอทีเคที่เหมาะสม
         
สามารถเช็กราคาได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th
         
เริ่มนำราคาขายแต่ละยี่ห้อประกาศขึ้นเว็บ ตั้งแต่สัปดาห์นี้

โดยจะตรวจสอบได้ว่า ยี่ห้อไหน ราคาเท่าไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” บอกว่า ตอนนี้ กรมฯ ได้ติดตามขอข้อมูลจากผู้นำเข้าทุกราย ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย. หลายรายทยอยส่งข้อมูลมาแล้ว แต่หลายราย ยังไม่ส่ง

รายที่ส่ง เมื่อหารือได้ข้อสรุปเรื่องราคากับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็จะนำขึ้นเว็บไซต์ทันที

รายที่ยังไม่ส่ง ก็จะติดตามให้ส่งโดยเร็ว

ไม่ต้องกังวลว่า จะมีใคร "แหกคอก" ไม่ส่งข้อมูล เพราะถ้าขืน "ดื้อดึง" จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษทั้งจำและปรับ
         
ยืนยันว่า “ไม่ได้ขู่” แต่ “เอาจริง
         
เพราะความเป็นความตายของประชาชน จะทำเล่น ๆ ไม่ได้
         
เห็นกระทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างแข็งขันแบบนี้

ประชาชนยังคงมีที่พึ่ง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด