​ตั้งบริษัทใหม่ถูกลง! “พาณิชย์”ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน หวังเพิ่มยอดยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดันอันดับยากง่ายทำธุรกิจดีขึ้น

img

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรองและค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัท ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอ เพื่อปรับปรุงการเก็บค่าธรรมเนียมแบบคงที่ (Flat Rate) ตามที่ธนาคารโลกได้ให้ข้อเสนอแนะไว้  
         
สำหรับเหตุผลในการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ มองว่า จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ลดต้นทุนเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนนิติบุคคลของภาครัฐลดลง เพราะจะมีผู้เข้าใช้บริการยื่นคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจตามรายงาน Doing Business ของธนาคารโลกที่ดีขึ้น
         
ส่วนผลเสีย ภาครัฐจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติบุคคลลดลง โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ในแต่ละปีประมาณ 300 ล้านบาท กล่าวคือ ปกติจะเก็บได้ปีละประมาณ 500 ล้านบาท คงเหลือประมาณ 200 บาท และการกำหนดทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลอาจจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียม หากกำหนดทุนจดทะเบียนไว้สูง
         
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการคิดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโดยเฉพาะการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จะคิดค่าธรรมเนียมเป็นช่วงและเพิ่มขึ้นตามจำนวนทุนจดทะเบียน เช่น กรณีจัดตั้งบริษัทจำกัด คิดค่าธรรมเนียมบริคณห์สนธิแสนละ 50 รวมกันไม่ต่ำกว่า 500 บาท และไม่เกิน 25,000 บาท และคิดค่าธรรมเนียมจัดตั้งแสนละ 500 รวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และไม่เกิน 250,000 บาท
         
ขณะที่อัตราใหม่ จะคิดอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะเป็นแบบคงที่ คือ คิดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งตามประเภทนิติบุคคลโดยคิดเท่ากันทุกจำนวนทุนจดทะเบียน และลดอัตราค่าธรรมเนียมลง 30% จากอัตราค่าธรรมเนียมใหม่แบบคงที่สำหรับการยื่นจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration และยังได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการบริการถ่ายโอนข้อมูลจากระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ขอข้อมูลจากรายละ 60 บาท เป็นรายละ 30 บาท
         
ยกตัวอย่างเช่น การจดตั้งบริษัทใหม่ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมเดิม 5,500 บาท ค่าธรรมเนียมใหม่ 5,500 บาท แต่ถ้าจดผ่านระบบ e-Registration ค่าธรรมเนียมลดเหลือ 3,850 บาท , ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมเดิม 55,000 บาท ค่าธรรมเนียมใหม่ 5,500 บาท จดผ่านระบบ e-Registration 3,850 บาท และทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมเดิม 275,000 บาท ค่าธรรมเนียมใหม่ 5,500 บาท จดผ่าน e-Registration 3,850 บาท
         
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าทุนจดทะเบียนจะกำหนดไว้เท่าใด ค่าธรรมเนียมใหม่ จะเหลือเพียง 5,500 บาท แต่ถ้าจดผ่านระบบ e-Registration ค่าธรรมเนียมจะเหลือเพียง 3,850 บาทเท่านั้น
         
ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิบริษัทจำกัด เก็บค่าธรรมเนียมระหว่าง 500-2,000 บาท อัตราปรับปรุงใหม่ เก็บอัตราเดียว คือ 500 บาท และหากดำเนินการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ค่าธรรมเนียมจะลดลง 30% หรือจ่ายเพียง 350 บาท จดทะเบียนควบห้างหุ้นส่วน เก็บค่าธรรมเนียมระหว่าง 2,000 บาท อัตราปรับปรุงใหม่ เก็บอัตราเดียวคือ 1,000 บาท และหากดำเนินการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตค่าธรรมเนียมจะลดลง 30% หรือจ่ายเพียง 700 บาท
         
การปรับลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติบุคคล และการปรับลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอื่นๆ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการปรับลดเพื่อลดภาระ ลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น และหากจดผ่านระบบ e-Registration จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมลงอีก 30% เพื่อเป็นกระตุ้นการจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์
         
นอกจากนี้ หากมีการจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration เพิ่มมากขึ้น จะทำให้การนำข้อมูลไปใช้ และการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และประมวลผลด้านการค้า การลงทุนของประเทศ รวมถึงการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
         
ที่สำคัญ ยังต้องมาลุ้นกันว่า ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ของธนาคารโลกที่จะประเมินในปีนี้ ไทยจะมีอันดับดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง