​เปิดไทม์ไลน์มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ยุค “ทรัมป์ 2.0” ก่อนประกาศขึ้นภาษีคู่ค้าทั่วโลก

img

นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 หรือที่รู้กันในยุค “ทรัมป์ 2.0” ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา นับจากนั้นทรัมป์ ได้ออกคำสั่งประธานาธิบดี เดินหน้าฉะแหลกประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ มองว่า มีการค้าที่ไม่เป็นธรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงจุดจบวันที่ประกาศขึ้นภาษีกับคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 2 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา ส่วนไทม์ไลน์กว่าจะถึงวันนี้ มีอะไรกันบ้าง ไปติดตามดูกัน
         
20 ม.ค.2568 ออกบันทึกคำสั่งประธานาธิบดี America First Trade Policy ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ คือ การแก้ไขการค้าที่ไม่เป็นธรรม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) และประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลภายในเดือน เม.ย.2568
         
1 ก.พ.2568 เก็บภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้านำเข้าทุกชนิดจากแคนาดาและเม็กซิโก ยกเว้นสินค้าพลังงานจากแคนาดาที่เก็บอีกในอัตรา 10% เดิมให้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2568 แต่ได้เลื่อนออกไปอีก 1 เดือน ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 4 มี.ค.2568
         
1 ก.พ.2568 เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิด
         
3 ก.พ.2568 เลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าของแคนาดาและเม็กซิโก จากกำหนดเดิมเป็นเวลา 1 เดือน
         
10 ก.พ.2568 เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสินค้าอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากทุกประเทศ พร้อมกับยกเลิกสิทธิพิเศษและโควตานำเข้าแบบปลอดภาษีศุลกากรทั้งหมด มีผลใช้บังคับในวันที่ 12 มี.ค.2568
         
13 ก.พ.2568 มอบหมายหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ เพื่อคำนวณและกำหนดอัตราภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่เท่ากัน กับคู่ค้าแบบรายประเทศ โดยพิจารณาจากอัตราภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่ประเทศคู่ค้ามีต่อสหรัฐอเมริกา ดังนี้ 1.อัตราภาษีศุลกากรนำเข้าที่ประเทศคู่ค้าจัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา 2.ภาษีประเภทอื่นที่ไม่เป็นธรรมและมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.มาตรการ กฎระเบียบ และอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษี ซึ่งเป็นภาระต่อธุรกิจของสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งนโยบายเกี่ยวกับการนำเข้า มาตรการ SPS มาตรการทางเทคนิค การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การอุดหนุนการส่งออก การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคต่อการค้าดิจิทัล และการต่อต้านการแข่งขันทางการค้า 4.นโยบายบิดเบือนค่าเงิน นโยบายกดค่าแรง และนโยบายสนับสนุนธุรกิจภายในประเทศ ที่ทำให้ธุรกิจของสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบ 5.นโยบายหรือมาตรการอื่น ๆ ที่ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เห็นว่า เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาด และการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของสหรัฐอเมริกา
         
20 ก.พ.2568 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวนและระบุการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าในลักษณะรายประเทศ (country-by-country basis) และริเริ่มการดำเนินการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อประเมินความเสียหายจากการค้าที่ไม่เป็นการต่างตอบแทนของประเทศคู่ค้าต่อสหรัฐอเมริกา ตามบันทึกคำสั่งประธานาธิบดี America First Trade Policy โดยเปิดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 11 มี.ค.2568
         


25 ก.พ.2568 มีคำสั่งฝ่ายบริหารให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเปิดไต่สวนการนำเข้าทองแดง อาศัยอำนาจตามมาตรา 232 ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act 1962 เพื่อประเมินภัยคุกคามและผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติที่เกิดจากการนำเข้าทองแดง ให้เวลาไต่สวนและพิจารณาภายใน 270 วัน แล้วรายงานผล ให้ประธานาธิบดี
         
1 มี.ค.2568 มีคำสั่งฝ่ายบริหารให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเปิดไต่สวนการนำเข้าไม้ (timber) ไม้แปรรูป (lumber) และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ (derivative products) อาศัยอำนาจตามมาตรา 232 ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act 1962 เพื่อประเมินภัยคุกคามและผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติที่เกิดจากการนำเข้าสินค้าข้างต้น ให้เวลาไต่สวนและพิจารณาภายใน 270 วัน แล้วรายงานผล ให้ประธานาธิบดี

3 มี.ค.2568 ปรับการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรจากเดิมที่เพิ่มอีก 10% เป็นเพิ่มอีก 20% กับสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิด มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2568

4 มี.ค.2568 การเพิ่มภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก และอีก 10% กับสินค้านำเข้าจากจีน มีผลใช้บังคับ
         
6 มี.ค.2568 ไม่ขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่ใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลง USMCA ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ Chapter 98 Subchapter XXIII ครอบคลุมสินค้าผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล ไม่ขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่ใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลง USMCA ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ Chapter 99 Subchapter XXII ครอบคลุมสินค้าที่กว้างขวาง และปรับการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้าโพแทซที่นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา โดยลดจากที่ปรับเพิ่ม 25% เหลือปรับเพิ่มเพียง 10% มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.2568
         
12 มี.ค.2568 การเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสินค้าอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากทุกประเทศ พร้อมกับยกเลิกสิทธิพิเศษและโควตานำเข้าแบบปลอดภาษีศุลกากรทั้งหมด มีผลใช้บังคับ
         
24 มี.ค.2568 เก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% กับสินค้านำเข้าทุกชนิดจากประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากเวเนซุเอลา ทั้งจากการนำเข้าทางตรงและทางอ้อมผ่านทางประเทศที่สาม ด้วยการให้เหตุผลไม่สนับสนุนอาชญากรรมข้ามชาติที่มีถิ่นจากเวเนซุเอลา ให้อำนาจ รมว.ต่างประเทศ โดยปรึกษาร่วมกับ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ รมว.มาตุภูมิ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา สามารถพิจารณาจัดเก็บภาษีกับประเทศใดหรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2568 เป็นต้นไป หากประเทศใดถูกพิจารณาแล้วให้สหรัฐอเมริกา ต้องเก็บภาษี ภาษีในอัตรา 25% นั้นจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันสุดท้ายที่ประเทศนั้นนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากเวเนซุเอลาหรือโดยดุลพินิจของ รมว.พาณิชย์ ที่ปรึกษาร่วมกับ รมว.คลัง รมว.มาตุภูมิ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ให้ รมว.ต่างประเทศร่วมกับ รมว.พาณิชย์ จัดทำรายงานผลเป็นระยะเสนอต่อประธานาธิบดีถึงการประเมินประสิทธิภาพของภาษี และการติดตามการดำเนินการของรัฐบาล ประธานาธิบดี Maduro ของเวเนซุเอลา โดยฉบับแรกให้รายงานผลภายใน 180 วัน นับจากวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และหลังจากนั้นต้องมีการรายงานทุก ๆ 180 วัน อย่างต่อเนื่อง     มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2568
         


26 มี.ค.2568 เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทที่นำเข้าจากทุกประเทศ ได้แก่ เครื่องยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เกียร์และชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อน และชิ้นส่วนระบบไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ที่ใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลง USMCA ผู้นำเข้าสามารถแสดงรายละเอียดของชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อให้ได้รับการคำนวณอัตราภาษีศุลกากร โดยหักมูลค่าของชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาออก แล้วให้คำนวณเฉพาะส่วนที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐอเมริกา ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตภายใต้เงื่อนไขของความตกลง USMCA จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากร สินค้ารถยนต์มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2568 สินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2568
         
2 เม.ย.2568 เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศอีก 10% ในลำดับแรก ตั้งแต่วันที่ 5-8 เม.ย.2568 (MFN rate + 10%) ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2568 เป็นต้นไป สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ระบุไว้ใน Annex I ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใน individualized reciprocal higher tariff จะถูกปรับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตราของประเทศตนเองที่ระบุไว้ใน Annex I (MFN rate + rate ที่ประกาศใน Annex I) โดยสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรไปจนกว่าจะเห็นว่าความไม่สมดุลทางการค้าได้รับการแก้ไข , การปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรที่เป็นไปตามคำสั่งประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ ให้ประกาศนั้น ๆ ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ และการบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำสั่งนั้น , การปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนี้เป็นไปเพื่อใช้บังคับกับสินค้าที่มีส่วนประกอบที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิด หรือ local content จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายถึง local content อย่างน้อยร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้า , สหรัฐอเมริกาอาจดำเนินมาตรการเพิ่มเติม หากจำเป็น และหากการดำเนินการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนี้ยังไม่สามารถแก้ไขภาวะฉุกเฉินความไม่สมดุลทางการค้า หรือมีการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น หรือความสามารถทางการผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงไม่ได้รับการแก้ไข , หากประเทศใดมีการตอบโต้ทางการค้าจากมาตรการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ก็จะดำเนินการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรขึ้นอีก หรือขยายขอบเขตของสินค้าที่ปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร , คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับนี้จะยังไม่รวมสินค้า 1.ทองแดง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวน ตามมาตรา 232 2.ยาและเวชภัณฑ์ เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ตามเอกสาร General Notes 13 ของ HTS 3.เซมิคอนดักเตอร์ 4.ผลิตภัณฑ์จากไม้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวน ตามมาตรา 232 5.แร่ธาตุหายากเชิงยุทธศาสตร์ 6.พลังงานและผลิตภัณฑ์ด้านพลังงาน

ทั้งนี้ 5-8 เม.ย.2568 สินค้าที่นำเข้าจากไทยจะถูกเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 10% จากอัตราภาษีศุลกากรเดิมที่สหรัฐอเมริกา เคยเรียกเก็บจากไทย (MFN rate +10%) ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.68 เวลา 00:01 น. EDT สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มอีก 10% นั้น จากทุกประเทศ ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้สำหรับสินค้าที่ขึ้นเรือแล้ว และอยู่ระหว่างการขนส่งมายังสหรัฐฯ ก่อนเวลา 00:01 น. ของวันที่ 5 เม.ย.2568 โดยจะไม่ถูกจัดเก็บในอัตราเพิ่มเติมนี้ แม้ว่าจะนำเข้ามาบริโภคหรือนำออกจากคลังสินค้าเพื่อเข้ามาบริโภคหลังจากวันที่นี้ก็ตาม และตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2568 สินค้าที่นำเข้าจากไทยจะถูกปรับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมในอัตรา 36% จากอัตราภาษีศุลกากรเดิมที่สหรัฐอเมริกา เรียกเก็บจากไทย (MFN rate + 36%) ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.68 เวลา 00:01 น. EDT สหรัฐฯ จะปรับอัตราภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บเพิ่ม 36% นั้น เป็นอัตราภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ที่กำหนดไว้ของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้สำหรับสินค้าที่ขึ้นเรือแล้ว และอยู่ระหว่างการขนส่งมายังสหรัฐฯ ก่อนเวลา 00:01 น. ของวันที่ 9 เม.ย.2568 โดยจะไม่ถูกจัดเก็บในอัตราเพิ่มเติมนี้ แม้ว่าจะนำเข้ามาบริโภคหรือนำออกจากคลังสินค้าเพื่อเข้ามาบริโภคหลังจากวันที่นี้ก็ตาม ทั้งนี้ อากร ค่าธรรมเนียมอื่นใด ที่เคยโดนเรียกเก็บ จะถูกเรียกเก็บเช่นเดิม
         
2 เม.ย.2568 สหรัฐอเมริกายกเลิกการให้สิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรภายใต้ duty-free de minimis treatment สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ ที่นำเข้าจากจีนและฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2568 โดยจะต้องเสียภาษีศุลกากรในอัตรา 30% ของมูลค่าสินค้า หรือ $25 ต่อชิ้น และจะเพิ่มเป็น $50 ต่อชิ้น หลังจากวันที่ 1 มิ.ย.2568 เป็นต้นไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะส่งรายงานการประเมินผลกระทบของคำสั่งนี้ภายใน 90 วัน และจะพิจารณาว่าขยายการใช้มาตรการนี้ไปยังสินค้าที่นำเข้ามาจากมาเก๊าด้วยหรือไม่

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด