​ตามไปดู “วรวงศ์-คุณากร” นำทีมพาณิชย์บุกแอฟริกาใต้ สุดปัง! ขายข้าวบิ๊กล็อต สานสัมพันธ์การค้าชื่นมื่น

img

ระหว่างวันที่ 24-28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะนำทีมกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ประกอบด้วยนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นางอรรัตน์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว ทีมข้าราชการกองบริหารการค้าข้าว และภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญ เดินทางเยือนแอฟริกาใต้
         
เดิมทีทีมนี้ จะมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ แต่พอดีตรงกับช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จึงได้มอบหมายให้นายวรวงศ์ทำหน้าที่แทน
         
การเดินทางเริ่มต้นเที่ยงคืนวันที่ 23 มี.ค.2568 คณะนัดพร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนบินลัดฟ้าด้วยสายการบินเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ ประมาณตี 3 ของวันที่ 24 มี.ค.2568 เดินทางสู่ท่าอากาศยานยานนานาชาติดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6.50 ชั่วโมง รอต่อเครื่องอีก 3 ชั่วโมง เพื่อเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติโออาร์แทบโบ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง เบ็ดเสร็จใช้เวลาเดินทางประมาณ 16 ชั่วโมง
         


เมื่อเดินทางไปถึง เข้าที่พัก และพักผ่อน ก่อนที่ภารกิจจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มี.ค.2568 โดยช่วงเช้า นายวรวงศ์และคณะ ได้เดินทางไปพบหารือกับ น.ส.โรสแมรี่ โนคูโซลา คาปา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมงของแอฟริกาใต้
         
แม้จะเป็นการพบปะกันเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ แต่ได้ผลเกินคาด โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง และคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าข้าว ที่ไทยครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในแอฟริกาใต้กว่า 70% และสินค้าปศุสัตว์อย่างเนื้อวัวและนกกระจอกเทศ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้นของแอฟริกาใต้ และสินค้าผลไม้ ซึ่งปัจจุบันแอฟริกาใต้ได้เริ่มส่งออกสินค้าผลไม้เมืองหนาวอย่างแอปเปิ้ลมายังไทย และแจ้งว่าสนใจนำเข้ามังคุดและลำไยของไทย
         
ทั้งนี้ นายวรวงศ์ได้ใช้โอกาสนี้ ขอให้ฝ่ายแอฟริกาใต้สนับสนุนการนำเข้ามะม่วงไทย ซึ่งเป็นผลไม้สำคัญของไทยอีกรายการหนึ่ง ซึ่งแอฟริกาใต้ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และน่าจะเป็นผลไม้ที่มีโอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่แอฟริกาใต้อีกรายการหนึ่ง
         
ขณะเดียวกัน นายวรวงศ์ได้เสนอให้มีการยกระดับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) จากระดับเจ้าหน้าที่ เป็นระดับรัฐมนตรี และเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-แอฟริกาใต้ ให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว ควบคู่กับการทำ FTA ไทย-สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เลโซโท นามิเบีย เอสวาตินี และแอฟริกาใต้ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
         


ต่อมาช่วงบ่าย นายวรวงศ์ได้ เดินทางไปเปิดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ด เลิฟเวอร์มาร์เก็ต (Food Lover’s Market) สาขา Castle Gate กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ โดยได้โชว์ฝีมือทำต้มยำกุ้ง เสิร์ฟด้วยข้าวหอมมะลิไทย ให้ผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ได้ลิ้มลอง และร่วมจัดกิจกรรมแจกชิมอาหารไทย อาทิ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย มัสมั่นไก่ รวมทั้งร่วมแจกสินค้าอาหารไทย อาทิ ข้าวหอมมะลิไทย เครื่องปรุงรส ซอส อาหารกระป๋อง ให้กับผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับความสนใจมาร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคัก
         


การจัดกิจกรรมนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับกรมการค้าต่างประเทศ มีกำหนดจัดกิจกรรม 6 ครั้ง กับ 6 สาขา ระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย.2568 โดยได้จัดกิจกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4
         


สำหรับ Food Lover’s Market เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในแอฟริกาใต้ เปิดให้บริการมากว่า 30 ปี มีจำนวน 120 สาขาในแอฟริกาใต้ (บอตสวานาจำนวน 2 สาขา ซิมบับเวจำนวน 4 สาขา และนามิเบียจำนวน 4 สาขา) โดยสินค้าไทยที่วางจำหน่ายใน Food Lover’s Market เช่น ข้าวนึ่ง ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย ปลากระป๋อง กะทิกระป๋อง เครื่องแกง เครื่องปรุงรส ซอส เส้นหมี่ ขิงดอง
         
วันที่ 26 มี.ค.2568 คณะเดินทางจากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ด้วยสายการบินเซาท์แอฟริกันแอร์เวย์ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเคปทาวน์ เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 10 นาที โดยวันนี้ ทีมงานกองบริหารการค้าข้าว และทีมงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย ได้มีการซักซ้อมและเตรียมความพร้อม ก่อนงานสำคัญที่จะมีในวันรุ่งขึ้น
         


วันที่ 27 มี.ค.2568 ช่วงเช้า นายวรวงศ์ พร้อมด้วยนายคุณากร นางอารดา และนางอรรัตน์ ได้ประชุมร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ผู้ส่งออกข้าวไทย และผู้นำเข้าข้าวไทย เพื่อหาแนวทางการยกระดับการค้าข้าว การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทยในตลาดแอฟริกาใต้
         
ช่วงบ่าย เข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ นายวรวงศ์ได้เป็นประธาน การจัดงาน Thailand Ultimate Friendship ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมสำคัญ 3 กิจกรรม ได้แก่
         


การลงนาม MOU ซื้อขายข้าวระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยกับบริษัทผู้นำเข้าข้าวแอฟริกาใต้รายใหญ่ ปริมาณ 400,000 ตัน มูลค่าประมาณ 7,300 ล้านบาท
         
การมอบรางวัล Thailand Ultimate Friendship Award 2025 แก่ผู้นำเข้าข้าวแอฟริกาใต้รายสำคัญจำนวน 8 บริษัท ในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางการค้าข้าวที่ดีของไทยมาอย่างยาวนาน
         
การมอบเกียรติบัตร Thai SELECT ให้แก่ร้านอาหารไทยในแอฟริกาใต้
         
งานทั้งหมดนี้ กำกับการแสดงโดยกองบริหารการค้าข้าว ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย โดยใช้ทีมงานดำเนินรายการเอง เป็นพิธีกรเอง บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น มีแต่รอยยิ้ม เพราะเป็นงานแห่งความสุขจากการขายข้าวได้สูงถึง 400,000 ตัน ซึ่งจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่ มี.ค.-มิ.ย.2568
         
แต่กว่าจะมาถึงความสุข ณ จุดนี้ เบื้องหลัง ทั้งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ทั้งผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว และทีมงาน ต้องใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะดิวกันจบ โดยเริ่มต้นเจรจาซื้อขายกันที่ 250,000 ตัน คุยกันไป คุยกันมา จบที่ 391,000 ตัน ก่อนที่จะบินมาเซ็น MOU แต่พอถึงวันเซ็นจริงขยับขึ้นไปได้อีก 9,000 ตัน รวมเบ็ดเสร็จก็ 400,000 ตันตามที่เห็น
         




ในช่วงการจัดงาน ยังได้มีการจัดแสดงตัวอย่างข้าวไทย และการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย การประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “ตราเขียว” และซุ้มสินค้าอาหารไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นด้วย  
         


ต่อมา วันที่ 28 มี.ค.2568 นายวรวงศ์และคณะ ได้เดินทางไปหารือกับ น.ส.Wrenelle Stander ผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive Officer : CEO) ของ The Western Cape Tourism Tradeand Investment Promotion Agency (Wesgro) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนสำหรับเมืองเคปทาวน์และเวสเทิร์นเคป โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่ง Wesgro แจ้งว่า ได้ให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2568 มีแผนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและอาหารนานาชาติของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนอยู่ระหว่างวางแผนการขยายเส้นทางการบินตรง และการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีในลักษณะเดียวกับการประชุมกับสหภาพยุโรป อย่างการประชุม The annual European Union (EU) Trade and Investment Breakfast

ทั้งนี้ นายวรวงศ์ได้ขอบคุณ Wesgro ที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน และขอให้ช่วยเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย–แอฟริกาใต้ ให้สำเร็จภายในปีนี้ เพราะ FTA ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ เนื่องจากไทยและแอฟริกาใต้มีนโยบายด้านเศรษฐกิจในประเทศที่คล้ายคลึงกัน อาทิ นโยบายการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และการเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุน
         


ทางด้านนางอารดา สรุปผลการเดินทางในครั้งนี้ ว่า การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงการเดินทางเยือนแอฟริกาใต้ในครั้งนี้ จะช่วยให้สถานการณ์การค้าข้าวระหว่างไทยและแอฟริกาใต้ในปี 2568 เป็นไปด้วยดี และมั่นใจว่าจะมีคำสั่งซื้อข้าวไทยจากแอฟริกาใต้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ซื้อ ผู้นำเข้า มีความเชื่อมั่น จากการที่ไทยมีคณะเดินทางมาเยือน
         
สำหรับตลาดแอฟริกาใต้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 833,184 ตัน ลดลง 5.87% และช่วง 2 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) ส่งออกแล้ว 98,943 ตัน เพิ่มขึ้น 60% คาดว่า ทั้งปี น่าจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 900,000 ตัน และส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวในภาพรวมเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน
         
การจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ในครั้งนี้ แม้จะเป็นทีมเล็ก ๆ แต่พูดได้ว่าคุณภาพคับแก้ว เพราะสามารถปิดดีลใหญ่ได้สำเร็จ มีการเซ็น MOU ซื้อขายข้าวสูงถึง 400,000 ตัน ยังไม่นับรวมออเดอร์ที่คาดว่าจะมีตามเข้ามาอีก จากความเชื่อมั่นในข้าวไทยที่เกิดขึ้น
         
ส่วนแผนงานประชาสัมพันธ์ข้าวไทยนับจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะจัดคณะผู้แทนการค้า เดินทางไปเจรจาขายข้าวไทย ประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ในประเทศเป้าหมายอื่น ๆ อีกต่อเนื่อง เพื่อเปิดตลาดให้กับข้าวไทย สร้างความเชื่อมั่นในข้าวไทย โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทย ขายข้าวได้ราคาดีขึ้น และหวังว่าจะสร้างผลงานแบบการเยือนแอฟริกาใต้ในครั้งนี้ ที่เริ่มต้นจากดีลเล็ก ๆ สุดท้ายสามารถปิดดีลใหญ่ได้สำเร็จ
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด