​เปิดกลยุทธ์และแผนทำงานรายประเทศ ปั๊มส่งออกไทยปี 61 เดินหน้าสู่เป้าหมายมูลค่า 2.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 8%

img

ได้เคาะตัวเลขเป้าหมายตัวเลขการส่งออกอย่างเป็นทางการไปแล้ว ในช่วงที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการทำงานให้กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าที่ตั้งไว้ที่ 255,630 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งตัวเลขเป้าหมายนี้ จะเป็นเป้าในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องเดินหน้าทำงาน เพื่อผลักดันให้การส่งออกเดินไปสู่เป้าหมายต่อไป
         
สำหรับมาตรการผลักดันการส่งออกในปี 2561 ได้กำหนดไว้ 5 มาตรการหลัก ที่จะทำการเชื่อมฐานรากสู่ตลาดโลก ได้แก่ 1.การใช้ยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า มีเป้าหมายตลาด จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น CLMV ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย อินเดีย อิหร่าน และสหรัฐฯ 2.การผลักดัน SMEs ให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทั้งการส่งออกปกติและการค้าขายออนไลน์ 3.การส่งเสริมและผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการผ่านการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 4.การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในระดับฐานราก ให้มีความรู้ในการทำธุรกิจและส่งออก และ 5.การส่งเสริมธุรกิจบริการให้เป็นจักรกลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
         
ทั้งนี้ หากแยกเป้าหมายการส่งออกเป็นรายประเทศ ได้กำหนดไว้ดังนี้ จีนและฮ่องกง ตั้งเป้าเพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 6.5% แยกเป็นอาเซียนเดิม เพิ่ม 5.5% CLMV เพิ่ม 8% ไต้หวัน เพิ่ม 7% ญี่ปุ่น เพิ่ม 8% เกาหลีใต้ เพิ่ม 12% เอเชียใต้ เพิ่ม 8% รัสเซียและ CIS เพิ่ม 30% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 8% สหภาพยุโรป เพิ่ม 5% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 5% แอฟริกา เพิ่ม 11% อเมริกาเหนือ เพิ่ม 7% และลาตินอเมริกา เพิ่ม 3%
         
ทีนี้ไปดูกัน แต่ละประเทศได้กำหนดกลยุทธ์และแผนการทำงานไว้อย่างไร เพื่อผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เริ่มจากตลาดอาเซียนและ CLMV จะเน้นการสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ โดยขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มนักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานภาครัฐ , ส่งเสริมให้เกิดการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยและอาเซียน , ส่งเสริมการส่งออกสินค้านวัตกรรม เช่น ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม สปา รวมถึงเกมส์ แอนิเมชั่น ละคร ภาพยนตร์ , การบุกเจาะตลาดเมืองรอง ได้แก่ ดาเวาและเซบู ของฟิลิปปินส์ เสียมราฐ ของกัมพูชา โคตาคินาบารู รัฐซาบาห์ และเมืองยะโฮร์ บารู รัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย แขวงสาละวัน ของลาว สุราบายา ของอินโดนีเซีย เมืองไฮฟอง นครเกิ่นเทอ และนครดานัง ของเวียดนาม มัณฑะเลย์ มะริด ตองจี เมาะลำใย ปะเต็ง ของเมียนมา , ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าผัก ผลไม้ และวัสดุก่อสร้าง ในเมียนมา , ส่งเสริมให้ SMEs ไทยมีโอกาสเปิดตลาดสินค้าในอาเซียนมากขึ้นผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Top Thai Brands และผ่านช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศ , การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเชื่อมโยง (Connectivity) ในภูมิภาค และ Belt and Road Initiative ของจีน ให้เป็นประโยชน์ ต่อการค้าการลงทุนไทย และเพื่อให้ไทยเป็น Logistics Hub สู่ตลาด CLMV
         
ตลาดจีนและฮ่องกง จะเน้นการเจาะตลาดรองและกลุ่ม Niche Market โดยเน้นสินค้าอุปโภคบริการ สุขภาพและความงาม , ใช้กลยุทธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจผ่านเส้นทางแม่น้ำเริ่มจากจูเจียง , ใช้คุนหมิง หนานหนิง เป็นฐานโลจิสติกส์ให้กับสินค้าไทย , เจาะตลาดเข้าสู่ผู้บริโภคจีนผ่านช่องทางออนไลน์ , ดึงนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยและใช้ไทยเป็นฐานในการเจาะตลาดอาเซียน และเชื่อมโยงการลงทุนเขตเศรษฐกิจของจีนกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
         
ตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และทวีปออสเตรเลีย โดยญี่ปุ่นจะเน้นการส่งเสริมธุรกิจ Digital Content โดยการนัดหมายจับคู่เจรจาการค้า รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริม Cartoon Characters และ Animation ที่เป็นของไทย ไม่มุ่งเพียงรับจ้างผลิต และส่งเสริมการส่งออกกล้วยหอมทองโดยใช้สิทธิ JTEPA , เกาหลีใต้ จะร่วมมือกับเว็บไซต์ Coupang เปิดแพลตฟอร์มสินค้าไทย , ไต้หวัน ร่วมกับเว็บไซต์ Pinkoi ส่งเสริมสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีดีไซน์ ส่วนออสเตรเลียจะร่วมมือในการนำระบบ Smart Farming มาช่วยพัฒนาระบบการเกษตรของไทย
         
ตลาดอินเดีย จะเน้นการใช้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจขยายความร่วมมือกับอินเดียเป็นรายรัฐ , ขยายการค้าออนไลน์ , ส่งเสริมการร่วมทุนระหว่าง SMEs ไทยกับอินเดีย เพื่อขยายตลาด , การเจาะตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ศรีลังกา มัลดีฟส์ , การจัดคณะผู้แทนการค้าขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทย เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ผลไม้ และข้าว  
         
ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) รัสเซียและ CIS จะใช้โอกาสจากการที่อียูฟื้นฟูความสำพันธ์กับไทย และโอกาสจากการที่เศรษฐกิจของยุโรปและรัสเซียฟื้นตัว โดยจะเน้นการสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย , ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกเจาะตลาดเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ สินค้าออร์แกนิก และสมุนไพรไทย , การสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย เพื่อสร้างการจดจำและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด และการขยายการค้าในตลาดเมืองรองในกลุ่ม CIS
         
ตลาดอเมริกา และลาตินอเมริกา จะเน้นการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าอาหาร แฟชั่น และภาพยนตร์ , การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ เช่น กลุ่มคนรวย กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชาวยิว และกลุ่มสถาบัน , การขยายตลาดออนไลน์ , การใช้ FTA ในการขยายตลาดกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา , ใช้ชิลีและเปรู ในการเป็นประตูการค้า การลงทุนเข้าสู่ตลาดลาตินอเมริกา , การผลักดันกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง พลังงาน แปรรูปอาหาร
         
ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ จะเน้นการสร้างภาพลักษณ์สินค้าและบริการไทย , ผลักดันความร่วมมือในระดับรัฐบาล , ใช้ดูไบเป็นประตูเข้าสู่ตลาดกลุ่มประเทศ GCC และแอฟริกา , ส่งเสริมสินค้าธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ , ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุน และร่วมมือผ่านยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับกลุ่มทุนรายใหญ่
         
ตลาดแอฟริกา จะเน้นการผลักดันการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหาร , ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับไทย , ส่งเสริมให้ไทยเข้าไปลงทุน และใช้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในการร่วมมือในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
         
ทั้งหมดนี้ คือ กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการเจาะและขยายตลาดส่งออกในปี 2561 ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเป้าหมายการทำงานที่แตกต่าง แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มยอดการส่งออกของไทยให้ได้เพิ่มขึ้น ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง