เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงความชัดเจนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 โดยบอกว่าเป็นมาตรการที่ได้จากการหารือร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก มีมาตรการรวม 4 มาตรการ และจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา ในวันที่ 1 พ.ย.2566
โดย 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.2566-29 ก.พ.2567 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้
2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ 1 ต.ค.2566-30 ก.ย.2567
3.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2,120 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อ 1 พ.ย.2566-31 มี.ค.2567
4.การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท
นายภูมิธรรม ระบุว่า ทั้ง 4 มาตรการนี้ ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน ที่จะนำมาใช้ในการดูแลราคาข้าว เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายจำนำข้าว และประกันรายได้ โดยมั่นใจว่าจะสามารถดูแลราคาข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรได้ และวงเงินที่นำมาใช้รวม 69,043.03 ล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องเพดานหนี้ เพราะได้คุยกับกระทรวงการคลังแล้ว สามารถดำเนินการได้
ต่อมาในการประชุม นบข. วันที่ 1 พ.ย.2566 ได้มีการพิจารณามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 มาตรการ และที่ประชุมไม่ขัดข้องในหลักการและวัตถุประสงค์ในการเก็บสต็อกและเร่งรับซื้อเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกร ที่ผลผลิตกำลังจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2566 นี้
แต่หลังจากประชุมเสร็จ มีการรายงานข่าวโดยสื่อมวลชน ปรากฏว่า เกิดความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการใดในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวกันแน่ เพราะข่าวที่ออกมา มีทั้งไม่อนุมัติมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ มีทั้งไม่อนุมัติวงเงินเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในการดูแลข้าว ขณะที่ตัวแทนเกษตรกร และโรงสี ก็ให้ข่าวในทำนองที่ว่ามาตรการที่เสนอไป ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
หลังจากที่ความไม่ชัดเจนเริ่มขยายวง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ออกข่าวชี้แจงผลการประชุม นบข. ว่า ได้เห็นชอบวิธีการในการดำเนินมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก ใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่ง มอบหมายกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยพิจารณารายละเอียดการให้สินเชื่อ การช่วยเหลือในการเก็บสต็อกข้าว และการใช้จ่ายงบประมาณ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา
ส่วนมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร ใช้กลไกสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรช่วยเร่งรับซื้อข้าวเปลือกที่กำลังจะออกสู่ตลาดในขณะนี้ เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. พิจารณารายละเอียดวิธีการให้สินเชื่อและการช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยแก่สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร และการใช้จ่ายงบประมาณ นำเสนอ ครม. พิจารณา
สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ มอบหมายกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและเงื่อนไขการให้สินเชื่อประกอบการรับซื้อ เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้สามารถเร่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร นบข. มีความเห็นว่า เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวยังมีเสถียรภาพ และคาดว่าการดำเนินมาตรการชะลอการขายและมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร จะสามารถช่วยรักษาระดับราคาในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด นบข.ได้กำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที
จากมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ ได้รับการอนุมัติในหลักการว่าเป็นมาตรการที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวได้ แต่วิธีการไม่ผ่าน เพราะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ และงดการดำเนินการ โดยสาเหตุใหญ่ น่าจะมาจากวงเงินงบประมาณที่สูงถึงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลไม่สามารถหามาเพื่อใช้ดำเนินการได้ จึงต้องมีการปรับวิธีการทำงานขนานใหญ่ โดยเฉพาะโครงการไร่ละ 1,000 บาท ที่ใช้เงินสูงถึง 56,321.07 ล้านบาท
ตอนนี้ ก็ต้องรอดูว่า หลังจากที่ นบข. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก มาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร และมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร และจะช่วยดูแลราคาข้าวให้มีเสถียรภาพได้ตามเป้าหมายได้จริงหรือไม่
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง