​“กะลาบารา” จากแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม สู่ผลิตภัณฑ์จากกะลาที่หลากหลาย

img

กะลามะพร้าว” ในอดีตเมื่อถูกนำเอาเนื้อมะพร้าวออกไปแล้ว ก็จะกลายเป็นเศษเหลือทิ้ง ที่ไม่ค่อยมีราคาค่างวดเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะถูกนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง หรือดีขึ้นมาหน่อย ก็จะทำเป็นเครื่องใช้ เช่น กระบวยตักน้ำ ทัพพี ถ้วย ชาม เป็นต้น แต่ด้วยแนวคิดและเทรนด์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการประดิษฐ์ คิดค้น สินค้าจากกะลามะพร้าวที่หลากหลายขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหลือทิ้ง และเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม
         
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการหลายราย ที่ได้ใช้วัตถุดิบจากกะลามะพร้าว มาเป็นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ทำถ่านหุงต้ม ทำน้ำส้มควันไม้สำหรับใช้ป้องกันแมลง ทำสิ่งของเครื่องใช้ และอุปกรณ์งานครัว และมีผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus คือ ผลิตภัณฑ์ “กะลาบารา” จาก จ.สตูล
         
นายจำรูญ ตาแหยบ ประธานวิสาหกิจชุมชนหัตถศิลป์พื้นบ้านปากบารา เล่าที่มาที่ไปว่า จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจมาจากแนวคิดที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ในเรื่องของเศษวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ เช่น เศษกะลามะพร้าว หนวดทะลายมะพร้าว ก้นกะลามะพร้าว ไม้ไผ่ ในชุมชนที่ใช้แล้วและมีเหลือทิ้งตามครัวเรือนมาผลิตและแปรรูปเป็นสินค้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ แล้วมาใส่ไอเดียให้กลายเป็นงานหัตถศิลป์กะลาที่มีหลายรูปแบบ ที่สำคัญต้องการให้คนในชุมชนมีทางเลือกใหม่สำหรับการประกอบอาชีพ
         
ชุมชนของเรา อยู่ติดทะเล คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ถ้าเรามีทางเลือกใหม่ หรือเป็นอาชีพเสริม ให้กับคนในชุมชน ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ จึงเป็นที่มาของการทำแบรนด์ กะลาบารา เราเริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นการรวมกลุ่มกันในชุมชน ตอนนี้มีอยู่ 10 คน ค่อย ๆ คิดค้นกันไป โดยที่เรียนรู้กันเองในชุมชน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนการให้ความรู้ในเรื่องของการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมด้วยอีกทางหนึ่ง



สำหรับประเภทของสินค้ามีทั้งของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ที่นี่เรามีให้เลือกกว่า 50 แบบ โดยชิ้นงานที่ขายดีสุด ได้แก่ เต่า โต๊ะเก้าอี้ กล่องทิชชูและแจกัน และจุดเด่นของสินค้า มีคู่แข่งในพื้นที่น้อย วัสดุหาง่าย สามารถนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าได้

ส่วนแผนในอนาคต จะเร่งพัฒนาในเรื่องทักษะของชาวบ้าน และหาจุดจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยว เน้นตลาดต่างชาติ และโปรโมตกระบวนการผลิตที่ยึดหลัก BCG เพราะเราใช้ทุกส่วนของกะลามะพร้าว กระทั่งเศษที่เหลือของกะลามะพร้าว ก็สามารถนำไปทำเป็นถ่านกะลา และให้ความร้อนได้ดี

ทั้งนี้ อยากให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือด้านการทำตลาด เหมือนอย่างที่ได้เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus ก็ถือว่าช่วยได้มาก เพราะสามารถเปิดตัวสินค้าออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น คนรู้จักเรามากขึ้น อยากให้มีแบบนี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งช่วยในการเจรจาจับคู่ธุรกิจ








ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง