​“Ocyco” สินค้าผลิตจากขยะทะเล ช่วยบ้านเมืองสะอาด ลดภาวะโลกร้อน

img

“อยากเชิญชวนทุกคนมาเก็บขยะกันดีกว่า ทั้งบ้านสะอาด และลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย แล้วก็เราได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย คือ เราอย่าไปคิดว่ามันเป็นแค่ขยะ เราได้เพียงไม่กี่บาท อย่าไปคิดว่าเก็บวันนี้มันต้องได้แล้วแหละสักร้อย อย่าไปคิดแบบนั้น เราเก็บเรื่อย ๆ เราอย่าไปมุ่งแต่เรื่องตังค์ อย่างกระป๋องแป้ง กระป๋องปลากระป๋อง ขวดนู้นนี้นั้น ที่เรากินเราใช้เราก็เก็บไว้ ๆ พอเราไปขาย อย่างน้อยเราได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้ซื้อแฟ้บ น้ำยาล้างจาน ของใช้ต่าง ๆ ก็ยังได้ เราได้ไม่ต้องใช้เงินตัวเอง ใช้เงินจากขยะนี้แหละ” นี่คือแนวคิดของผู้ผลิตสินค้าจากขยะทะเล ที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “โอไซโค่-Ocyco”
         
ปัจจุบัน สินค้าแบรนด์ Ocyco ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus ของกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเป็นสินค้าที่โดดเด่นในเรื่อง BCG ที่มีครบทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ส่วนจะครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน และมีที่มาที่ไปอย่างไร ลองไปฟังนายยศกร ทองตัน เจ้าของแบรนด์ Ocyco กัน
         
นายยศกร เล่าว่า แบรนด์โอไซโค่ เป็นสินค้าที่ผลิตจากขยะทะเล เช่น แหอวน เชือกขวดน้ำ ฝาขวดน้ำ ง่าย ๆ ก็คือเราอยากพัฒนาจังหวัดของเรา อยากให้ทะเลสวยเหมือนเดิม เพราะเห็นว่าช่วงโควิด-19 ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยว ทะเลสวยมาก  แต่ว่าในทางกลับกัน คือ ถ้าสมมุติว่านักท่องเที่ยวเข้ามา ทะเลก็จะไม่สวยเหมือนเดิม ก็อยากจะเตรียมความพร้อมให้ยั่งยืน และทำให้สภาพแวดล้อมให้สวยที่สุด ก็จะได้ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วยอีกทาง
         
สำหรับจุดเด่นของสินค้า ก็คือ การ Upcycling Recycling สินค้าขยะให้กลายเป็นสินค้าใหม่ เพื่อตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีนวัตรกรรมเด่น ๆ เป็นเรื่องของเสื้อ ที่ทำมาจากขวดพลาสติกที่เราเก็บมาจากทะเล 100% เป็นเสื้อ Polyester โดยเสื้อหนึ่งตัว จะใช้ขวดประมาณ 12 ขวด เราได้ขวดมา เรารับซื้อขวดจากชาวบ้าน ชุมชนชายฝั่ง ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด แล้วเอาส่วนแบ่งนั้นมาเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านได้มีการเก็บขยะอย่างต่อเนื่อง
         


“ขวดเหล่านั้น เราเอามาบดเป็นเกร็ด เสร็จแล้วก็จะเอาไปตีเป็นเส้นด้าย แล้ววีฟเป็นเส้นไย แล้วค่อยเอามาถักทอ ซึ่งจะมีขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก ๆ ตอนนี้สินค้าที่มีเด่น ๆ ก็เป็นเสื้อ เสื้อยืดรีไซเคิลที่เป็นจุดขายของแบรนด์เรา เสื้อยืดของเราจะมีสีขาวกับสีเทา คอลเล็กชันแรก คือ เป็นรุ่นรักษ์ทะเล ก็จะมีสีเทาด้วย เป็นลายการ์ตูนสัตว์ทะเล ส่วนเรื่องของลวดลาย ออกแบบกับศิลปินถ้องถิ่น ก็ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม คนพื้นที่ก็จะมีงานทำด้วย”
         
นายยศกรกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกำลังการหนึ่งครั้ง จะได้เสื้อประมาณ 1,600–1,800 ตัว แล้วแต่ไซส์ ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันนี้การรีไซเคิลของโอไซโค่ ได้รีไซเคิลขวดน้ำไปราว ๆ แสนกว่าขวดแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจาก ททท. กระทรวงพาณิชย์ในการออเดอร์เสื้อของทางราชการมา และยังมีวางจำหน่ายที่ร้านวงพาณิชย์กระบี่ ร้านของฝากจี้ออ และเข้าไปยังสมาคมต่าง ๆ หอการค้า และจังหวัดรอบข้าง เช่น ร้านของฝากคุณแม่จู้ พังงา ภูเก็ต 
         
ส่วนแผนงานในอนาคต จะเน้นเรื่องการออกบูธ สร้างความรู้ให้คนอื่น แม้ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำ แต่เป็นเจ้าแรกที่ทำแบบระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบครบวงจร เพราะเป็นคนหาวัตถุดิบ ไปคุยกับชุมชน รับซื้อจากชุมชน กระทั่งผลิตเป็นสินค้า ถือว่าเข้าเกณฑ์ BCG ทั้งวงจร และยังมีความคิดที่จะส่งออก ขยายตลาดไปยังมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และประเทศในเอเชียแปซิฟิก และอยากให้กระทรวงพาณิชย์คอยสนับสนุนผู้ประกอบการแบบนี้ต่อไป และต่อเนื่อง คอยหาลู่ทาง กิจกรรม ช่องทาง เพื่อทำให้สินค้าจากผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ของไทยออกไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น






ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง