
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นวันแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ และได้รับมรดกตกทอดจากรัฐบาลชุดก่อน เป็นข้าวในโครงการรับจำนำ ซึ่งตัวเลข ณ ตอนนั้นมีประมาณ 18.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้เช็กสต๊อก ยังไม่ได้ตรวจเช็กความถูกต้อง
จากนั้น รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการบริหารและจัดการข้าว (นบข.) และได้มีมติให้ตั้งทีมตรวจสอบข้าวเป็น 100 ชุด เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และความมีอยู่ของข้าว ซึ่งได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า มีข่าวที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือหย่อนคุณภาพเล็กน้อย สามารถนำมาระบายได้ประมาณ 12 ล้านตัน ข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือข้าวเสีย ประมาณ 6 ล้านตัน และกลุ่มข้าวขาดบัญชีประมาณ 4 แสนตัน และข้าวที่อยู่นอกคลังกลางที่รอตรวจสอบอีกประมาณ 3 แสนตัน
แต่หลังตรวจสอบเบ็ดเสร็จจนจบแล้ว มีข้าวอยู่จริง 17.76 ล้านตัน ส่วนที่เหลือที่ขาด ก็ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโกดังกล่าว และบริษัทเซอร์เวเยอร์ที่รับผิดชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อมีความชัดเจนจำนวนข้าวในสต๊อก กรมการค้าต่างประเทศ ก็เริ่มดำเนินการเปิดระบายข้าว ซึ่งได้ดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ประเดิมด้วยการนำออกมาประมูลเพียงล็อตเล็กๆ เริ่มจากหลักแสนตัน จนขยายเป็นหลักล้านตัน และได้ระบายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งระบายเป็นการทั่วไป และระบายข้าวสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมพลังงาน
ผลการเปิดระบายข้าว ได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ รวมแล้ว 24 ครั้ง สามารถระบายข้าวได้รวม 10.11 ล้านตัน ได้เงินมูลค่า 103,771 ล้านบาท หรือขายได้เฉลี่ยประมาณตันละ 10,000 หมื่นบาท
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ผลจากการระบายข้าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ระบายออกไปได้แล้ว 10.11 ล้านตัน คงเหลือข้าวที่ยังอยู่ในสต๊อกอีกประมาณ 6.66 ล้านตัน โดยในข้าวก้อนที่เหลือนี้ เป็นข้าวที่บริโภคได้ประมาณ 1.51 ล้านตัน และที่เหลือเป็นข้าวที่บริโภคไม่ได้ ต้องเปิดประมูลขายข้าวสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมทั่วไป ประมาณ 3.66 ล้านตัน และก้อนสุดท้ายประมาณ 1 ล้านตันเศษๆ เป็นข้าวที่เสื่อมมาก ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงาน เช่น นำไปทำเอทานอล เป็นต้น
ตามกำหนดการที่ตั้งไว้ นางดวงพร บอกว่า วันที่ 10 มีนาคม 2560 นี้ กรมการค้าต่างประเทศจะเปิดชี้แจงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้กับผู้ที่สนใจจะประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งจะนำข้าวที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาประมูล 3.66 ล้านตัน เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้มีทางเลือกในการเลือกซื้อข้าว เพราะถ้าโรงงานอยู่ใกล้โกดังข้าวจังหวัดไหน ก็สามารถไปเลือกซื้อข้าวในจังหวัดนั้นได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งหรือขนย้ายข้าวเข้าสู่โรงงาน
ทั้งนี้ เมื่อชี้แจงทีโออาร์เสร็จแล้ว ก็จะเปิดให้เข้าไปดูคลังที่เก็บข้าว กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม 2560 และเมื่อดูแล้ว ตรวจสอบข้าวแล้ว ก็ให้มายื่นซองคุณสมบัติในวันที่ 20 มีนาคม 2560 จากนั้นกรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาคุณสมบัติและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติและให้ยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 23 มีนาคม 2560 ต่อไป โดยคาดว่า อย่างเร็วน่าจะประกาศผลการประมูลได้ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2560
ส่วนข้าวในส่วนที่เสื่อมมากๆ อีกประมาณ 1 ล้านตันเศษๆ คาดว่าจะประกาศเปิดประมูลได้ภายในเดือนเมษายน 2560 แม้ว่า จะเป็นช่วงที่ข้าวนาปรังออกสู่ตลาด แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะข้าวที่นำออกมาประมูลเป็นคนละตลาดกัน
สำหรับข้าวที่บริโภคได้และยังคงเหลืออีก 1.51 ล้านตัน กรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาออกประกาศเปิดประมูล โดยจะดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่อไป แต่ไม่น่าจะนาน
“ถ้ากรมฯ ประกาศเปิดประมูลข้าวที่มีอยู่ได้ทั้งหมด ก็หมายความว่า ข้าวที่ค้างอยู่ในสต๊อกที่คงเหลืออีกประมาณ 6.66 ล้านตัน จะประกาศเปิดประมูลขายได้ครบทั้งหมด แต่จะขายได้ทั้งหมดหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เป็นเรื่องของคนซื้อข้าว แต่ก็อยากให้คนซื้อข้าวรีบซื้อไป เพราะถ้าไม่ซื้อ จากนี้ไป ก็จะไม่มีข้าวขายอีกแล้ว”นางดวงพรกล่าว
เมื่อถามถึงผลดี หากสามารถระบายข้าวในสต๊อกออกไปได้หมด นางดวงพร เคยบอกว่า จะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในหลายด้าน ตั้งแต่รัฐบาลไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าเช่าคลัง ค่าฝากเก็บ ค่าดอกเบี้ย ค่ารักษา ค่ารมยา ค่าเงินกู้ ค่าประกันภัย เป็นต้น
ประเมินคร่าวๆ เงินส่วนนี้ ที่รัฐบาลเคยจ่ายสูงสุดถึงเดือนละ 1,000 ล้านบาท หรือปีละ 12,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินไม่น้อย แต่ก็เริ่มลดลง เมื่อจำนวนข้าวในสต๊อกลดลง แต่ก็ถือว่า รัฐบาลจ่ายมามากแล้ว เมื่อไม่มีข้าวในสต๊อก ก็ไม่ต้องจ่ายอีกต่อไป
ประโยชน์ที่จะเกิดอีกด้าน ก็คือ จะเกิดผลดีต่อตลาดข้าวไทย เกิดผลดีต่อราคาข้าวไทย ที่จะไม่ต้องถูกผู้ซื้อ ถูกคู่ค้ากดดันต่อรองราคาอีกต่อไป เพราะไทยไม่มีข้าวในสต๊อกที่จะมาเป็น “ตัวประกัน” ใครก็ไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อรองได้อีก
เท่ากับว่า จากนี้ไป ตลาดข้าวไทยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จะขึ้นไปได้มากน้อยแค่ไหน คนวงการต้องช่วยกัน ต้องร่วมมือกัน
ส่วนคำถามที่ว่า “ข้าวที่ขายออกไปได้ รัฐบาลขาดทุนมากน้อยแค่ไหน” นางดวงพรไม่ได้บอก แต่คิดเองง่ายๆ ถ้าต้นทุนข้าวเฉลี่ยตันละ 20,000 บาท ขายข้าวทั้งหมดได้ราคาเฉลี่ยตันละ 10,000 บาท ก็ขาดทุนแค่ 50% หรือตันละ 10,000 บาท ข้าวในสต๊อก 17.76 ล้านตัน ก็ขาดทุนประมาณ 177,600 ล้านบาท แต่ถ้าต้นทุนข้าวแพงกว่านี้ ยอดขาดทุนก็จะสูงขึ้นไปกว่านี้อีก เพราะนี่แค่ประเมินแบบคร่าวๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การขายข้าวได้ราคาไม่ดีหรือราคาไม่ถูกใจ จะโทษกรมการค้าต่างประเทศไม่ได้ เหมือนอย่างที่มีความพยายามของบางคน บางฝ่าย กำลังโยนความผิดให้ คงไม่ได้ เพราะการขายข้าวแต่ละครั้ง ได้ยึดกลไกราคาตลาดเป็นเกณฑ์ หักค่าเสื่อมสภาพ หักความเก่าของข้าว และราคาที่ขายได้ หากพูดกันตามหลักสากล ก็ถือว่ารับได้
ที่สำคัญ ควรจะต้องปรบมือให้กรมการค้าต่างประเทศด้วยซ้ำ โดยเฉพาะแม่งานหลักอย่าง “ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ต้องใจจดใจจ่อกับการระบายข้าว และปัญหาเรื่องข้าว แต่ถ้าระบายข้าวออกไปได้หมด โดยอย่างช้า ไม่เกินครึ่งปีนี้ ก็จะเป็นการ “ปิดจ๊อบ” ได้อย่างสวยหรู ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ได้อย่างงดงาม
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง