​“Nodething” กระเป๋าหัตถกรรมเส้นใยตาล ของดีแดนใต้ จากภูมิปัญญาบวกความคิดสร้างสรรค์

img

ต้นตาล ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีการปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และผลจากการที่หลาย ๆ ส่วนของต้นตาล ไม่ว่าจะเป็นผล กิ่ง ก้าน ใบ เปลือก และลำต้น สามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย ทั้งทำอาหาร ทำขนม หรือผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สะสมมาตั้งแต่อดีต ทำให้เกิดสินค้าจากต้นตาลที่หลากหลาย และได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน
         
ปัจจุบันยังคงมีสินค้าที่ผลิตจากหลายส่วนของต้นตาลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และหลายสินค้า ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมของตลาดในประเทศ และยังโกอินเตอร์ออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศก็มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งวันนี้ มีข้อมูลดี ๆ จากกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของสินค้ากระเป๋าหัตถกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีการนำทรัพยากรจากธรรมชาติ มาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จนเกิดเป็นกระเป๋าใยตาลมาแนะนำให้รู้จัก
         
กระเป๋าหัตถกรรมจากเส้นใยตาลดังกล่าว ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบ่อใหม่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ภายใต้แบรนด์ โหนดทิ้ง (Nodething) โดยสินค้าที่มีความโดดเด่น เช่น กระเป๋า หมวก และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น โดยเป็นสินค้าที่มีความทนทาน เหนียว ไม่ฉีกขาดงาน และมีคุณสมบัติพิเศษสามารถโดนน้ำ ที่สำคัญผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นเป็นฝีมืองานประดิษฐ์ด้วยมือ รวมทั้งลวดลาย การตกแต่ง
         


นางเสริญศิริ หนูเพชร เจ้าของผลิตภัณฑ์ใยตาลแปรรูปโหนดทิ้ง เล่าว่า คิดทำผลิตภัณฑ์จากใยตาลมาตั้งแต่ปี 2521 แต่ตอนนั้น งานหัตถกรรม ไม่ค่อยได้รับความสนใจ และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ทำให้ไม่มีตลาด ก็หยุดทำไป พอปี 2527 ก็เริ่มกลับมาทำใหม่ มีหน่วยงานรัฐมาส่งเสริมเรื่องการผลิต แต่ทำแล้ว ตลาดไม่มี ก็หยุดไปอีกครั้ง จนปี 2544 ที่เป็นช่วงรัฐบาลส่งเสริมสินค้าโอทอป ก็เลยทำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในการทอเส้นใยตาล เริ่มแรกเป็นงานทอมือ ใช้วิธีการถักทอ ซึ่งใช้เวลานานมาก แต่ต่อมามีเครื่องจักร ทำให้ทอได้หลากหลายขึ้น สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น ส่วนข้อดีของเส้นใยตาล มีความแข็ง ทนทาน ใช้งานได้นานกว่า และไม่เป็นเชื้อรา
         
นอกจากนี้ ผลจากการที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในด้านการผลิต การออกแบบสินค้า การพัฒนาสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ และการช่วยหาตลาด ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และล่าสุด ยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus ก็มั่นใจว่าสินค้าจากใยตาล จะเป็นที่รู้จักและเปิดตัวออกสู่ตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
         
สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าหัตถกรรมจากใยตาล ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นของดีแดนใต้ จากจังหวัดสงขลา สามารถพบกันได้ในงาน Southern Thailand Local BCG Plus Fair ระหว่างวันที่ 10-14 พ.ค.2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 หน้าร้าน H&M ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ สงขลา






ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง