
หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการปรับปรุงงานให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการของไทย เพราะเล็งเห็นว่า การปรับปรุงงานให้บริการ ไม่เพียงแต่จะทำให้การบริการทำได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา และประหยัดงบประมาณ แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย
ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้มีการดำเนินการปรับปรุงงานด้านบริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำระบบการให้บริการแบบไร้กระดาษ หรือ Paperless มาใช้ และล่าสุดได้เตรียมเปิดให้บริการออกใบอนุญาตส่งออกแบบ Paperless สำหรับสินค้าไม้ ไม้แปรรูป และถ่านไม้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป เพื่อให้กระบวนการส่งออกเป็นแบบไร้เอกสาร ส่วนสินค้าอื่นๆ จะทยอยดำเนินการในลำดับถัดไป
มาดูกันว่า การขอใบอนุญาตส่งออกแบบ Paperless ต้องดำเนินการอย่างไร เริ่มจากผู้ประกอบการยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานทั้งหมดทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกำกับข้อมูลที่ส่งทั้งหมดด้วยระบบ Digital Signature เมื่อส่งข้อมูลแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์ และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบ และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทราบทางระบบคอมพิวเตอร์
โดยคำขอที่ผ่านการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ ระบบจะส่งข้อมูลไปยังกรมศุลกากรทันทีผ่านระบบ National Single Window : NSW เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับใบขนขาออก โดยสินค้าที่ส่งออกดังกล่าว จะผ่านการตรวจปล่อยพิธีการทางศุลกากรอย่างรวดเร็ว ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ลดต้นทุน และระยะเวลาให้แก่ผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์สำเนาใบอนุญาตฯ ที่ผ่านการอนุมัติด้วยการให้บริการแบบ Paperless ได้ด้วยตนเองเพียงใช้กระดาษ A๔ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับจัดทำใบขนสินค้า หรือหากผู้ประกอบการต้องการใบอนุญาตฯ รูปแบบกระดาษที่ต้องมีการลงลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้อนุมัติ พร้อมประทับตราสำคัญสามารถติดต่อกรมการค้าต่างประเทศเพื่อดำเนินการต่อไปได้
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกว่า ระบบการออกใบอนุญาตแบบ Paperless นี้ จะช่วยผู้ประกอบการประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการ และยังช่วยสนับสนุนให้นโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม หากใครยังมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศได้ โทร 0 2547 4828 และ 0 2547 4830 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง