​เปิดสาเหตุ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ขึ้นราคา

img

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวไม่ค่อยสู้ดีนัก คือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” อย่างน้อย 2 ราย ได้แจ้งปรับขึ้นราคาซองละ 25 สตางค์ โดยเป็นการปรับขึ้นราคาขายส่งทางอ้อมกับร้านค้า ส่งผลให้กำไรของร้านค้าปรับลดลงเหลือเพียงซองละ 75 สตางค์ จากเดิมที่ได้กำไรซองละ 1 บาท แต่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะร้านค้าไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาขายปลีก ยังคงจำหน่ายในราคาเดิม คือ ซองละ 6 บาท
         
ข่าวนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศเมื่อช่วงต้นปี 2565 ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้ให้ความร่วมมือไม่ปรับขึ้นราคา เพื่อช่วยดูแลผู้บริโภค แม้ว่าต้นทุนการผลิต ทั้งแป้งสาลี และน้ำมันปาล์มจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัวก็ตาม โดยผู้ผลิตบอกว่า จะไปบริหารจัดการต้นทุนเอง ไม่อยากให้ผู้บริโภคเดือดร้อน  

พร้อมกับแจ้งเงื่อนไขสำคัญ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยดูแลต้นทุนที่ผู้ผลิตไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนจากบรรจุภัณฑ์ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการใช้มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากภาษีความเค็ม จากการบังคับใช้ของกระทรวงการคลัง และต้นทุนน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ที่กระทรวงพลังงาน ต้องเข้ามาช่วยดูแล  

แต่ทว่า เสียงเรียกร้องของผู้ประกอบการ กลับไม่เป็นผล เมื่อกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ในอัตรา 0.73-32.84% กับสินค้าที่นำเข้าจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้

เสียงเรียกร้องในข้อนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ใช้ฟิล์มบีโอพีพีมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ได้ส่งเสียงถึงกระทรวงพาณิชย์มาตั้งแต่ช่วงที่ประกาศเปิดไต่สวนการทุ่มตลาด เมื่อปลายปี 2563 และมีหนังสือทั้งในนามอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ในนามสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งถึงผลกระทบส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งถึงกรมการค้าต่างประเทศ แต่ก็ได้รับการดูแลเหมือนไม่ดูแล
         


เพราะธงในเรื่องนี้ คือ การช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในที่ร้องเรียนเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงว่า อุตสาหกรรมที่ร้องเรียนนั้น มีกี่ราย อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดจริงหรือไม่ ผลประกอบการของอุตสาหกรรมลดลงจากการทุ่มตลาดจริงหรือไม่

นอกจากนี้ แม้จะสามารถใช้เงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ตามมาตรา 7 ที่กำหนดว่าการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ให้คำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะประกอบกัน แต่ก็ไม่ได้มีการนำมาตรานี้มาพิจารณากันเลย จนในที่สุด ก็มีการประกาศใช้มาตรการเอดีกับสินค้าฟิล์มบีโอพีพีตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ทั้งนี้ ผลจากการใช้มาตรการเอดี เพียงแค่ช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศเพียงรายเดียว และเป็นรายที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจากการตรวจสอบรายได้และผลประกอบการของผู้ผลิตรายดังกล่าว ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย้อนหลังไป 4 ปี จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกำไรกว่า 10 ล้านบาทในปี 2561 ขยับเพิ่มเป็นกว่า 200 ล้านบาทในปี 2562 กว่า 500 ล้านบาทในปี 2563 และกว่า 400 ล้านบาท ในปี 2564 โดยปี 2564 แม้ผลกำไรจะลดลง แต่กำไรที่ลดลงนั้น มาจากการขาดทุนจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนค่าขนส่งทางทะเลที่สูงขึ้น หาใช่ลดลงจากผลกระทบจากการทุ่มตลาดไม่

อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการเอดี ได้ส่งผลทางลบอย่างมากต่อผู้ประกอบการอีกนับ 100 ราย ซึ่งใช้ฟิล์มบีโอพีพีเป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน เทปกาว สติกเกอร์ เคลือบกระดาษ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ฟิล์มบีโอพีพี เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวม ๆ กันแล้ว มูลค่าในอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
         
เมื่อมีการใช้มาตรการเอดี ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จึงมีต้นทุนสูงขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบจาก 3 ประเทศที่ถูกใช้มาตรการเอดี ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาขายบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปที่จำหน่ายต่อไปยังอุตสาหกรรมที่ใช้อีกทอดหนึ่ง โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น ซองใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองขนมปัง ซองขนมขบเคี้ยว ซองลูกอม ซองใส่หน้ากากอนามัย ซองใส่ถุงมือ ซองใส่เสื้อผ้า ซองใส่ถุงยางอนามัย ซองใส่ผงเกลือแร่ ซองใส่เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ฉลากน้ำดื่ม และฉลากน้ำมันพืช เป็นต้น



ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เพิ่งแจ้งปรับขึ้นราคา แม้จะขึ้นแค่ 25 สตางค์ และขึ้นด้วยการลดกำไรของร้านค้าลงมา ทำให้ผลกระทบพุ่งเป้าตรงไปที่ร้านค้า โชวห่วย ร้านค้าปลีกรายย่อย อย่างชัดเจน ซึ่งมีเป็นแสน ๆ รายในประเทศ และไม่แน่ว่า การปรับขึ้นราคาจะหยุดเพียงเท่านั้น เพราะผู้ผลิตรายหนึ่ง เคยระบุไว้ว่า ถ้ามีการใช้เอดีฟิล์มบีโอพีพี จะทำให้ต้นทุนซองเพิ่มขึ้นถึงซองละ 50 สตางค์ นั่นหมายความว่า หากแบกรับภาระไม่ไหว การปรับราคาก็จะมีอีกระลอกสอง ถึงตอนนั้น อาจจะลามไปถึงผู้บริโภคก็ได้
         
หากถามว่า แล้วทำไมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ถึงไม่ซื้อฟิล์มบีโอพีพีจากผู้ผลิตในประเทศ ผู้ผลิตแทบทุกรายยืนยันว่ามีการซื้ออยู่แล้ว แต่หลาย ๆ ครั้ง ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ตามต้องการ หรือส่งทันเวลา ทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงัก หรือฟิล์มบีโอพีพีบางเกรด ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตให้ได้ จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า เพื่อไม่ให้กระทบกระบวนการผลิต และความต้องการของอุตสาหกรรมผู้ใช้
         
บทสรุปในเรื่องนี้ การกำหนดนโยบายในบางครั้ง ที่มุ่งการปฏิบัติตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่กฎหมายเปิดช่องทาง เปิดช่องว่างให้ใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้บริโภค แต่กลับไม่มีการนำพา ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย และใหญ่หลวงกว่าที่คาดเอาไว้
         
เพราะการประกาศปรับขึ้นราคาของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นเพียงแค่ผู้กล้า ที่อาจหาญนำหน้าประกาศปรับขึ้นราคา จากต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นเป็นรายแรก และเชื่อว่า จะมีผู้กล้าเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพราะตอนนี้ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ได้เริ่มทยอยแจ้งปรับราคาไปยังอุตสาหกรรมผู้ใช้แล้ว เมื่อมาตรการเอดีมีผลบังคับใช้เมื่อใด การปรับขึ้นราคาก็จะบังคับใช้ตามเมื่อนั้น ต่อจากนั้น ไม่ใช่แค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะมีสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์อีกหลายชนิด ที่จะทยอยปรับขึ้นราคาตามมาอีกเป็นขบวน
         
ผู้บริโภคเตรียมตัวรับแรงกระแทก !!!

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง