​ปี 64 ตั้งบริษัทใหม่ 72,958 ราย เพิ่ม 15% ชี้เป้าปี 65 ค้าปลีกออนไลน์ดาวรุ่งพุ่งแรง

img

ในปี 2564 แม้ประเทศไทยจะยังคงเจอสถานการณ์โควิด-19 ระบาด การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ กลับไม่ได้ลดลง มีหลายธุรกิจที่เติบโตสวนกระแส และมีหลายธุรกิจที่ล้มหายตายจาก แต่ภาพรวมก็ยังเป็นทิศทางขาขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวลงในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการแพร่ระบาด เพราะคนมีความเชื่อมั่น จากการเร่งฉีดวัคซีนได้ตามเป้า มีการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จึงมีความมั่นใจในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
         
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สรุปผลการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ ทั้งปี 2564 มีจำนวน 72,958 ราย เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวน 63,340 ราย หรือเพิ่มขึ้น 9,618 ราย และเมื่อเทียบปี 2562 ที่มีจำนวน 71,485 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,473 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2%

โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 7,029 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 3,386 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 2,258 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
         
ขณะที่มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 229,808.51 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวน 235,278.75 ล้านบาท ลดลง 5,470.22 ล้านบาท หรือลดลง 2.32% และเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวน 327,470.24 ล้านบาท ลดลง 97,661.73 ล้านบาท หรือลดลง 30%
         
ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการปี 2564 มีจำนวน 19,326 ราย ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 20,920 ราย หรือลดลง 8% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 384,376.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 318% โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,535 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,035 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 575 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ
         
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจทั้งปี 2564 ถือว่าสูงเกินเป้าที่ตั้งไว้ เพราะตั้งเป้าไว้ที่ 67,000-69,000 ราย แต่ทั้งปีทำได้ 72,958 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากคนมีความมั่นใจในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลได้ระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์
         
ส่วนมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกกิจการที่สูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2563 เป็นตัวเลขที่ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากการควบรวมกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่ แล้วมีการเลิกกิจการ ตัวเลขก็เลยสูง ไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ
         


ทั้งนี้ ธุรกิจรายใหญ่ที่มีการเลิกกิจการในปี 2564 ก็คือ โลตัส ที่ไปควบรวมกับแม็คโคร
         
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2564 พบว่า มีหลายธุรกิจที่ตั้งใหม่ สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 194 ราย เพิ่มขึ้น 820% และธุรกิจสร้างแม่ข่าย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 439 ราย เพิ่มขึ้น 670% รวมถึงนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ธุรกิจปลูกอ้อย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 52 ราย เพิ่มขึ้น 5,100% และธุรกิจให้เช่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ทางเกษตร มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 82 ราย เพิ่มขึ้น 1,540%
         
โดยแนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในปี 2565 คาดว่า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเปิดประเทศ จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่การแพร่ระบาดของโอมิครอน น่าจะคลี่คลายได้ภายในกลางปีนี้ และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจากปัจจัยข้างต้น ประเมินว่าการจดทะเบียนในช่วงครึ่งแรกปี 2565 จะมีจำนวน 40,000-42,000 ราย และทั้งปีจะมีจำนวน 70,000-75,000 ราย

ทางด้านธุรกิจที่น่าจับตามองและเป็นธุรกิจดาวเด่นในปี 2565 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ พบว่า มีจำนวน 10 ธุรกิจ ดังนี้ 1.ธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจการค้าปลีกออนไลน์และแพลตฟอร์มเพื่อการค้าออนไลน์ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคไม่สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าและสถานบริการได้ตามปกติ รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มช่องทางการตลาดค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับปี 2564
         
2.ธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ ได้แก่ ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce 3.ธุรกิจเวชภัณฑ์และแปรรูปสมุนไพร เพื่อบรรเทาและป้องกันสุขอนามัยของตนเองและครอบครัว 4.ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ธุรกิจบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจบริหารจัดการ ประมวลผลข้อมูล 5.ธุรกิจรีไซเคิล ได้รับอิทธิพลจากการปกป้องสิ่งแวดล้อม การสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน
         
6.ธุรกิจเครื่องสำอาง ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งเครื่องสำอางและธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง มีปัจจัยมาจากกระแสการดูแลสุขภาพ การดูแลตนเอง เพื่อเสริมภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง อีกทั้งมีปัจจัยเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ การเป็นตัวแทนขาย มาช่วยสนับสนุนยอดขายทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น 7.ธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 8.ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เติบโตตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น 9.ธุรกิจกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ เติบโตตามการค้าออนไลน์ และ 10.ธุรกิจโฆษณาทางออนไลน์ โดยจากสถิติของสมาคมโฆษณาดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก (Facebook) และยูทูบ (Youtube) ครองสัดส่วนการใช้จ่ายมากที่สุด 2 อันดับแรก รวมกันกว่าร้อยละ 50
         
สำหรับคำแนะนำในการลงทุนประกอบธุรกิจในปี 2565 ขอให้มองใน 10 ธุรกิจที่เป็นดาวเด่นข้างต้น เพราะเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและกำลังเติบโต แต่การทำธุรกิจนอกจากมองกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัด เป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจ ต้องรอบคอบให้มากที่สุด

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง