BCG คืออะไร สำคัญกับประเทศแค่ไหน แผนหนุน “พาณิชย์” เป็นอย่างไร

img

ปัจจุบัน คงได้ยินคำว่า BCG กันบ่อย ๆ ทั้งจากรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐ แต่มันคืออะไร มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ถึงเรียกว่าเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดการต่อยอดอย่างก้าวกระโดดและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีแผนงานสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อน BCG มีอะไรบ้าง วันนี้เรามาหาคำตอบกัน
         
B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง
         
C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste)
         
G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
         
ประโยชน์ของ BCG Economy Model จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะทำให้คนตกงาน เริ่มหันกลับมาสนใจการทำงานในภาคการเกษตร ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร
         
ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร
         
ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิม 16.5% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 20%
         


ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง

ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์

ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า BCG ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เป็นนโยบายรัฐบาล เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว และยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การทำงานที่กรมฯ กำหนดไว้สำหรับปี 2565 เพราะเรื่องนี้ เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ถ้าไทยช้า หรือไม่ทันการ ก็จะตกขบวนได้
         
“เราวางแผนทำงานเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการเป็นฮีโร่ BCG (BCG Heroes) นำร่องจำนวน 50 ราย คัดเลือกมาเสร็จแล้ว เป็นกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และตั้งเป้าปี 2565 จะผลักดันเพิ่มเป็น 500 ราย ซึ่งจะมีผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม”
         
สำหรับแผนการสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม BCG นายภูสิตบอกว่า ได้ทำ E-catalogue เพื่อเล่าเรื่องราวของผู้ประกอบการ ตัวสินค้า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้นำไปใช้ และใช้เป็นแคตาลอกให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ 58 แห่ง ได้นำไปเสนอให้กับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในยุโรป สหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaigroove.com/bcgheroes)
         
ส่วนการทำตลาด จะจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ให้ทูตพาณิชย์เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้ามาเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทย นำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และในปี 2565 มีแผนที่จะบุกเจาะตลาดอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือเป็นเวทีที่มีการหยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมขึ้นมาหารือ เช่น ตลาดยุโรป เน้นสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ตลาดออสเตรเลีย และตลาดเกาหลี เป็นต้น
         


โดยรายละเอียดกิจกรรมที่จะดำเนินการ ได้แก่ เดือน ก.พ.2565 BCG เจาะตลาดเกาหลี ตอกย้ำความเชื่อมั่นสินค้า Eco Thai ที่ได้เริ่มเข้าไปบุกตั้งแต่ปี 2563 อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากตลาดดี และผู้บริโภคเกาหลีเองต้องปรับตัวจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มขึ้น , เม.ย.2565 BCG เจาะตลาดอิตาลี ในงาน Milan Design Week , พ.ค.2565 BCG ในเวที APEC นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการและนโยบายการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC , ก.ค.2565 BCG เจาะตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สร้างภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีของไทยและประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าช่วยลดโลกร้อนของไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และส.ค.-ก.ย.2565 BCG เจาะตลาดยุโรป (อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์) เปิดตัวสินค้า BCG ของไทยในเวทีงานแสดงสินค้าที่เน้นแนวคิดด้าน “รักษ์โลก”
         
ขณะเดียวกัน ได้เตรียมจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้า BCG ใน Thaitrade.com เพื่อแนะนำสินค้าและเปิดโอกาสจำหน่ายออกสู่ต่างประเทศทางออนไลน์ และยังจะนำแคตาลอกไปไว้ในหน้าร้าน TOPTHAI Store ที่ปัจจุบันมีเปิดใน Tmall.com และ Tmall Global ของจีน , Bigbasket.com ของอินเดีย, Amazon.com ของสิงคโปร์และสหรัฐฯ , Klangthai.com ของกัมพูชา และ Blibli.com ของอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายอีกทางหนึ่ง
         
ทางด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า BCG จะจัดทำแคมเปญ BCG : Be the ChanGe เป็นการเล่นคำว่า BCG เชิญชวนให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่า ไม่ฝากความหวังไว้กับใคร แต่เริ่มได้ที่ตัวคุณ โดยมีเป้าหมายที่จะสื่อสารกระตุ้นการมีส่วนร่วมทั้งในประเทศ และเผยแพร่ไปในต่างประเทศผ่านทูตพาณิชย์ ตลอดจนองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ของกรมฯ
         
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายวาระแห่งชาติ ต้องการเพิ่มสัดส่วนมูลค่า GDP ของ BCG จาก 21% เป็น 24% ภายใน 5 ปี หรือเพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาท ในปี 2563 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในปี 2568 โดยมีสินค้าและบริการในกลุ่ม BCG ที่อยู่ในเป้าหมายผลักดัน ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายภูสิต ย้ำว่า กรมฯ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่ง เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย ก็อย่างที่บอก เรื่องนี้เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ถ้าพลาดแล้ว ไทยจะเสียโอกาส แต่ถ้าไทยเกาะกระแสได้ เกาะติดใกล้ชิด ก็จะทำให้สินค้าและบริการ BCG ของไทย เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และทำรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นตามเป้าที่วาดฝันเอาไว้  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง