​เปิดไส้ใน RCEP ไทยได้ประโยชน์อะไร

img

ปัจจุบันประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจาอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่ได้มีการลงนามความตกลงผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการภายใน ก่อนยื่นให้สัตยาบันไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นเลขาธิการ RCEP โดยประเทศไหนเสร็จสิ้นกระบวนการก่อน ก็สามารถยื่นได้ก่อน
         
แต่การจะมีผลบังคับใช้ มีเงื่อนไขว่า กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ต้องไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ เท่ากับ 6 บวก 3 เป็น 9 ประเทศ ถึงจะถือว่ามีการให้สัตยาบัน RCEP และบังคับใช้ได้ต่อไป โดยตามเป้าหมายน่าจะเป็นสิ้นปี 2564 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 แต่ทั้งนี้ จะบังคับใช้ได้ไม่ได้ ก็ต้องขึ้นกับ 9 ประเทศจะให้สัตยาบันครบหรือไม่
         
ทั้งนี้ ในส่วนของไทย ถือว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินการ โดยความตกลง RCEP ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 หน่วยงาน กำลังดำเนินกระบวนการภายใน คือ กรมการค้าต่างประเทศ ต้องออกแบบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ให้จบ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน กรมศุลกากร ต้องประกาศอัตราภาษีให้สอดคล้องกับข้อตกลง และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องออกประกาศเรื่องการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตามข้อตกลง RCEP
         
หากดำเนินการเสร็จสิ้น กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศ จะประสานงานการยื่นเรื่องให้สัตยาบันไปยังเลขาธิการอาเซียน ก็ถือว่าจบการในขั้นตอนการให้สัตยาบันของไทย
         
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจาก RCEP ว่า มีอะไรบ้าง ทั้งในด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ
         


ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดตัว “ศูนย์อาร์เซ็บ หรือ RCEP Center” ตั้งอยู่ที่ ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สามารถใช้บริการได้ทั้งแบบ Walk-in หรือสอบถามข้อมูลผ่าน Call Center ที่หมายเลข 0 2507 7555 รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.moc.go.th
         

บรรยากาศการเปิดตัวศูนย์อาร์เซ็ป 

โดยศูนย์อาร์เซ็ป มีข้อมูลสำคัญที่ให้บริการ ได้แก่ 1.ข้อมูลความตกลง RCEP และความตกลง FTA ฉบับอื่นๆ ของไทย 2.สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย 3.อัตราภาษีศุลกากรของไทยและคู่ FTA 4.กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง FTA ฉบับต่างๆ 5.ข้อมูลมาตรการทางการค้าของไทยและคู่ FTA และ 6.ระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ
         
นอกจากนี้ ยังมีบริการสำคัญที่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย และเปิดตัวเป็นครั้งแรกในการเปิดศูนย์บริการ RCEP Center คือ บริการสืบค้นอัตราภาษีศุลกากร เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ของไทย ซึ่งได้รวมอัตราภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP ไว้แล้ว โดยผู้ประกอบการสามารถเปรียบเทียบและเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทั้งขาเข้าและขาออกในการทำการค้าภายใต้ FTA ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ระบบสืบค้นอัตราภาษียังถูกออกแบบให้มีความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน โดยสามารถใช้ได้ทั้งในมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ก ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS
         
และอีกหนึ่งบริการ คือ การแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวทางการค้าที่ผิดปกติผ่านการใช้ระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) โดยระบบจะทำการแจ้งเตือน เมื่อตัวเลขการค้าของไทยทั้งการส่งออกและการนำเข้า มีการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงพาณิชย์สามารถเตรียมแผนรับมือ หรือจัดทำมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการค้าต่อเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างทันท่วงที


สรุปกันชัดๆ อีกที ศูนย์อาร์เซ็ปให้บริการอะไรบ้าง          

ทีนี้ มาดูกันว่า ผลประโยชน์ของไทย ที่จะได้รับจาก RCEP เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้มีอะไรบ้าง โดยอย่างแรกเลย ก็คือ ตลาดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะ RCEP เป็นตลาดการค้าการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย 15 ประเทศ มีประชากรรวมกันเกือบ 2,252 ล้านคน หรือ 30.2% ของประชากรโลก มีจีดีพีมากกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก ทั้งนี้ เฉพาะไทย การค้าและการลงทุนมากกว่า 50% อยู่ในตลาดของสมาชิก RCEP
         
ในด้านการค้า จะได้รับโอกาสทางสิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีให้ไทยเป็น 0% รวมทั้งหมด 39,366 รายการ (ออสเตรเลีย 5,689 รายการ จีน 7,491 รายการ ญี่ปุ่น 8,216 รายการ เกาหลีใต้ 11,104 รายการ และนิวซีแลนด์ 6,866 รายการ) โดยสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ มีจำนวน 29,891 รายการ หรือ 75.9% ของรายการสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมด และสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี จำนวน 9,475 รายการ ทั้งนี้ ครอบคลุมสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม
         
หากจะชำแหละให้เห็นกันชัดๆ มีสินค้าที่ไทยได้จากการเปิดตลาดเพิ่มเติมจากความตกลงอาเซียน+1 รวมทั้งหมด 653 รายการ แยกเป็น น33 รายการจากจีน 207 รายการจากญี่ปุ่น และ 413 รายการจากเกาหลีใต้
         
โดยสินค้าที่เกาหลีใต้เปิดตลาดเพิ่ม เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น โดยเกาหลีใต้กำหนดยกเลิกภาษีส่วนใหญ่ภายใน 15 ปี
         
ญี่ปุ่น เช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ เป็นต้น โดยญี่ปุ่นกำหนดยกเลิกภาษีส่วนใหญ่ภายใน 16 ปี
         
จีน เช่น พริกไทย สัปปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว ตัวรับสัญญาณโทรทัศน์ สไตรีน ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น โดยจีนกำหนดยกเลิกภาษีส่วนใหญ่ภายใน 20 ปี และ 10 ปี
         


ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้นจากทั้งในและนอกภาคี โดยอนุญาตให้สมาชิกทั้ง 15 ประเทศสามารถนำวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ความตกลง RCEP มาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าต่อได้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของความตกลง RCEP เมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่มีอยู่ในปัจจุบันที่จะสามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้เพียง 10-12 ประเทศเท่านั้น ดังนั้น ความตกลง RCEP จะช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการลงทุนในภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น
         
ส่วนโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุน จะมีมากขึ้น เพราะกฎระเบียบความตกลง RCEP ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการ หรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ เช่น มาตรการ ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาต และการตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น จะช่วยส่งเสริมการออกกฎระเบียบและมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
         
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP ยังจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคี RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน และค้าปลีก เป็นต้น
         
ที่สำคัญ เมื่อความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ จะช่วยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยไทยมีการเปิดตลาดเพื่อเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการในสาขาที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อยากได้รับการพัฒนา Know How และการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve ตามนโยบายรัฐบาล เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม ICT การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน
         
เห็นได้ว่า ประโยชน์จาก RCEP มีมากมาย ทั้งด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุน ทีนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการไทย ที่จะต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อม เตรียมศึกษาว่าจะลุยต่อยังไง เพราะกระทรวงพาณิชย์ ชี้เป้าให้แล้ว จะได้ประโยชน์ หรือไม่ได้ประโยชน์ ก็อยู่ที่ตัวผู้ประกอบการเอง  

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง