เปิดตัวอย่างความตกลง CPTPP ที่สมาชิกสามารถขอแต้มต่อได้

img

ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ทุกประเทศทำกันอยู่ในโลกนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประเทศที่เข้าร่วมเจรจา และหากเห็นว่าตัวเองยังไม่พร้อมเจรจาในประเด็นไหน ก็สามารถที่จะเจรจาขอความยืดหยุ่นในประเด็นนั้นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ให้สามารถปรับตัว และพร้อมที่จะเปิดเสรีในระยะต่อไปได้ และในกรณีของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ก็เช่นเดียวกัน ที่มีหลักการนี้อยู่ในความตกลง
         
การเจรจาของสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมา จนมีผลบังคับใช้ ก็ได้ยึดหลักการนี้ ซึ่งสมาชิกแต่ละประเทศ ก็มีการขอความยืดหยุ่นที่แตกต่างกัน
         
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้สรุปตัวอย่างความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นภายในความตกลง CPTPP พบว่า มีหลายเรื่องมาก ทั้งการค้าสินค้า , อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า , การบริการ การลงทุนและการเงิน , การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ , รัฐวิสาหกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะประเด็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือUPOV 1991 ที่สมาชิกทั้ง 11 ประเทศได้ขอแต้มต่อเอาไว้
         
ทีนี้มาดูกันในแต่ละเรื่องว่าสมาชิกขอความยืดหยุ่นอะไรกันบ้าง เริ่มจากด้านการค้าสินค้า ในประเด็นการเปิดตลาด ทุกประเทศขอความยืดหยุ่นในการลดภาษีบางสินค้าตั้งแต่ต่ำสุด 4 ปี ไปจนถึงสูงสุด 21 ปี ยกเว้นสิงคโปร์ ที่ไม่มีการขอยกเว้น (ดูตารางประกอบ)


ทั้งนี้ เวียดนามยังขอยกเว้นการเก็บอากรขาออกในสินค้าบางประเภท เช่น น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์จากวัลแคนไนซ์ อาทิ ถุงมือศัลยกรรม และชุดดำน้ำ , เวียดนาม ขอทยอยลดการเก็บอากรขาออกในสินค้าบางประเทศ โดยสินค้าที่ขอทยอยลดอากรระยะเวลาสูงสุด 15 ปี เช่น หินอ่อน หินแกรนิต และขอยกเว้นการเก็บอากรขาออกแก่สินค้าบางประเทศ โดยสินค้าที่ขอยกเว้นอากรสูงสุด 15 ปี เช่น ยิปซัม ถ่านโค้ก เศษและของที่ใช้ไม่ได้จำพวกเหล็ก
         
ขณะที่สินค้า Remanufactured เวียดนามขอยกเว้นการเปิดตลาด Remanufactured Goods บางประเภท เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องดูดฝุ่น มอเตอร์ไซค์ จักรยาน เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้
         
ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ชิลีและเปรู ขอระยะเวลาปรับตัวในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้มีการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลากเครื่องสำอาง 5 ปี
         


ด้านการบริการ การลงทุน และการเงิน พบว่า

กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทันกับรัฐ (ISDS) ชิลีขอสงวนสิทธิการบังคับใช้กฎหมายการลงทุนจากต่างชาติ โดยการใช้อำนาจการตัดสินใจการเข้ามาลงทุนของต่างชาติแก่คณะกรรมการด้านการลงทุนจากต่างชาติ และการคงไว้ซึ่งข้อกำหนดการโอนเงินลงทุน , ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ขอยกเว้นการใช้ ISDS กับกระบวนการคัดกรอบการลงทุนโดยใช้อำนาจของคณะกรรมการการลงทุนตามกฎหมายภายในประเทศ , ชิลี เม็กซิโก เปรู เวียดนาม ขอให้นักลงทุนไม่สามารถยื่นฟ้องผ่าน ISDS ได้ หากนักลงทุนนั้นได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายในของแต่ละประเทศข้างต้นแล้ว โดยให้ถือเป็นที่สุด , นิวซีแลนด์ ขอยกเว้นการใช้ ISDS กับออสเตรเลีย เปรู และขอให้เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน มีกระบวนการขออนุญาต (Prior Consent) นิวซีแลนด์ก่อนที่จะใช้ ISDS กับนิวซีแลนด์
           
กลไกการขยายสิทธิประโยชน์กับประเทศภาคีโดยอัตโนมัติ หากมีการแก้ไขกฎหมายภายในให้เสรียิ่งขึ้น (Ratchet) เวียดนามขอ Transition Period ในการบังคับใช้กฎเกณฑ์เรื่อง Ratchet ไว้ 3 ปี
            
การเวนคืนที่ดิน สิงคโปร์และเวียดนาม ขอความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎหมายการเวนคืนที่ดิน กรณีมีการเวนคืนที่ดินที่ต้องมีการชดเชยให้แก่นักลงทุนให้เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ
         
มาตรการด้านการโอนเงิน ชิลี ขอสงวนสิทธิของธนาคารกลางชิลีในการควบคุมและจำกัดการโอนเงินเข้า-ออกประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
         
นอกจากนี้ ความตกลง CPTPP ยังให้สมาชิกมีมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณี เช่น การห้ามกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตการลงทุนของสมาชิก โดยบรูไน กำหนดให้ผู้ให้บริการภาคการเกษตร การประมง และการก่อสร้าง ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บรูไน , มาเลเซีย กำหนดให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นเงื่อนไขในการประกอบกิจการร้านค้าปลีกเฉพาะอย่าง , มาเลเซีย จัดทำเงื่อนไขให้การบริการด้านสุขภาพของสมาชิกอื่นจะต้องจัดตั้งสำนักงานในมาเลเซีย และเวียดนาม จัดทำเงื่อนไขการบริการด้านบัญชีของสมาชิกอื่น จะต้องจัดตั้งสำนักงานในเวียดนาม
         
ส่วนประเด็นด้านการเงิน สมาชิกทุกประเทศได้จัดทำข้อยกเว้นการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการเงิน เช่น บรูไน กำหนดให้บริการทางการเงินจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทในบรูไน และตัวแทนบริษัทประกันภัย จะต้องเป็นคนบรูไนเท่านั้น หรือเวียดนาม กำหนดให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสาขา ของธนาคารและบริการด้านการเงินอื่นๆ (ที่มิใช่บริการประกันภัย) จะต้องเป็นผู้มีถิ่นพำนักในเวียดนาม
         
ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มีการขอระยะเวลาปรับตัวในการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ เพื่อเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (ดูตารางประกอบ)


ทั้งนี้ เวียดนาม ยังได้กำหนดสัดส่วนมูลค่าของสัญญาการจัดซื้อยาที่ไม่เปิดให้ภาคีเข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยจะทยอยลดสัดส่วนดังกล่าว โดยปีที่ 1-3 ไม่เปิดให้ต่างชาติเข้าร่วม ปีที่ 4-10 เปิดให้ 35% ปีที่ 11-15 เปิดให้ 40% และตั้งแต่ปีที่ 16 เปิดให้ 50%
         
ขณะที่ประเด็นการให้แต้มต่อแก่การจัดซื้อจัดจ้าง (Offsets) มาเลเซียขอความยืดหยุ่นให้สามารถให้แต้มต่อแก่การจัดซื้อจัดจ้างได้ 12 ปี นับตั้งแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และเวียดนาม ขอ 25 ปี
         
ด้านรัฐวิสาหกิจ ความตกลง CPTPP ให้สมาชิกสามารถมีมาตรการด้านรัฐวิสาหกิจที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีได้ โดยออสเตรเลีย ให้รัฐวิสาหกิจ (รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่จะตั้งในอนาคต) สามารถซื้อขายสินค้าและบริการที่เลือกปฏิบัติกับคู่ค้าจากประเทศสมาชิกได้ , บรูไน ให้รัฐสามารถให้ความช่วยเหลือที่มิใช่เชิงการค้าแก่รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมัน บริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติบรูไน และเอกชนที่ได้รับสิทธิผูกขาดในก๊าซธรรมชาติหรือปิโตรเคมีของบรูไน , แคนาดา ชิลี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู และเวียดนาม มีเงื่อนไขคล้ายๆ กัน คือ ให้รัฐสามารถให้ความช่วยเหลือที่มิใช่เชิงการค้าแก่รัฐวิสาหกิจได้ หรือให้รัฐวิสาหกิจสามารถซื้อขายสินค้าและบริการที่เลือกปฏิบัติกับคู่ค้าจากประเทศสมาชิกได้ รวมถึงรัฐวิสาหกิจในอนาคต
         
ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในประเด็นอนุสัญญา UPOV 1991 นิวซีแลนด์ มี 2 ทางเลือก ได้แก่ 1.มีระยะเวลาปรับตัว 3 ปี เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา หรือ 2.ปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญา , บรูไน ขอระยะเวลาปรับตัว 3 ปี เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา , เม็กซิโก ขอระยะเวลาปรับตัว 4 ปี และมาเลเซีย ขอระยะเวลาปรับตัว 4 ปี
         
จะเห็นได้ว่า ในความตกลง CPTPP ประเทศสมาชิกสามารถขอแต้มต่อในแต่ละข้อผูกพันที่มีความไม่พร้อมได้ ส่วนจะได้มาก ได้น้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีในการเจรจา และเหตุผลที่จะใช้ในการเจรจา แต่ทุกคนขอได้หมด และหากไทยจะขอเข้าไปเจรจาเพื่อเข้าร่วม ไทยก็มีสิทธิ์ที่จะขอข้อยกเว้น ข้อยืดหยุ่น หรือระยะเวลาในการปรับตัวได้เช่นเดียวกัน และในท้ายที่สุด หากเข้าไปเจรจาแล้ว เห็นว่า ไทยได้น้อยกว่าเสีย ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วมได้ แต่ถ้าได้มากกว่าเสีย ก็เป็นเรื่องในระดับนโยบายที่จะตัดสินใจว่าไทยจะไปต่อหรือไม่

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง