​CPTPP ไม่ได้ห้าม ไทยยังใช้ CL ยาได้ ไม่ต้องขยายอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา

img

เรื่องยาและสิทธิบัตรยา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่สังคมมีการจับตามอง หลังจากที่ไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยมีการให้ข้อมูล ทั้งข้อดี ข้อเสีย และเรื่อยไปจนถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และคลาดเคลื่อน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดขยายตัวออกไปในวงกว้าง
         
ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นที่ยังมีความกังวล และประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะประเด็นถ้าไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ไทยจะยังใช้ CL ได้เหมือนเดิมไหม และประเด็นถ้าเข้าร่วม CPTPP ไทยจะต้องขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา หรือผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา ใช่หรือไม่
         
ในประเด็นการใช้ CL ยา กรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายว่า ปกติการคุ้มครองสิทธิบัตรยา มีระยะเวลา 20 ปี (อันนี้ WTO กำหนดไว้ ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกต้องทำตาม) ในระหว่าง 20 ปีนี้ บริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการหาประโยชน์จากยาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการผลิต ขาย นำเข้า ฯลฯ (ถ้าคนอื่นจะหาประโยชน์จากยาที่เหมือนกับยาที่ได้สิทธิบัตร ก็ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน)

แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น เกิดโรคระบาดอย่าง COVID-19 ประเทศเราสามารถใช้สิทธิ CL เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ทันที ภายใต้เงื่อนไข คือ เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่การค้า หรือเพื่อแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วนในประเทศ โดยรัฐบาลสามารถผลิต ขาย หรือนำเข้ายาที่มีราคาถูกกว่าจากคนขายคนอื่นได้ แม้ว่ายานั้นจะมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ก็ตาม

สิ่งนี้เรียกว่า “การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือ CL (Compulsory Licensing)” ซึ่งเป็นสิทธิของประเทศไทยในฐานะสมาชิก WTO และหลักการนี้ ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายสิทธิบัตรของไทยฉบับปัจจุบัน และไทยก็เคยใช้ CL กับยามาแล้ว 7 รายการ ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2549–2550



กลับเข้ามาสู่คำถามที่ว่า ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP แล้ว จะยังใช้สิทธิ CL ได้ไหม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้คำตอบว่า CPTPP พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ความตกลง CPTPP ยืนยันสิทธิของประเทศสมาชิกในการใช้ CL ตามข้อกำหนดของ WTO ในทุกกรณี” นั่นหมายถึงว่าทุกประเทศที่เข้าร่วม CPTPP ยังสามารถใช้ CL เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้ในทันทีตามหลักการที่ WTO กำหนด (ประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่การค้า หรือแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วน) ซึ่งก็ตรงกับข้อกำหนดตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยทุกประการ

นอกจากนี้ CPTPP ยังกำหนดด้วยว่า ให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิพิจารณาได้ด้วยตนเองว่าสถานการณ์ใดถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วนของประเทศตน เพราะแต่ละประเทศย่อมมองเห็นความเร่งด่วนของแต่ละเหตุการณ์แตกต่างกัน การอนุญาตให้แต่ละประเทศตัดสินใจเองได้ว่าเมื่อไรมีความจำเป็นต้องใช้ ย่อมช่วยให้สมาชิกใช้ CL เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนของตนได้ดีกว่า

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า #ไทยยังสามารถใช้ CL ได้ในทุกกรณี

ส่วนประเด็น ถ้าเข้าร่วม CPTPP ไทยจะต้องขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา หรือผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา ใช่หรือไม่

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หลายต่อหลายคนมักกังวลกันมาก คือ จะขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้ยาวนานกว่ามาตรฐานที่ WTO และกฎหมายสิทธิบัตรไทยกำหนด (นานกว่า 20 ปี) และจะออกกฎหมายผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา จนอาจส่งผลกระทบต่อยาสามัญทำให้ราคาแพงขึ้นหรือไม่

ทั้งสองเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ผลักดันเรียกร้องมาโดยตลอด และ “เคยมีอยู่” ในความตกลง TPP (ชื่อเก่าของ CPTPP) เมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงเมื่อปี พ.ศ. 2560 ประเทศสมาชิกที่ยังคงเหลืออยู่ทั้ง 11 ประเทศ ก็ตัดสินใจ “ถอน” เรื่องทั้งสองออก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



สรุปคือ ตอนนี้ เรื่องการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา และการผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา ไม่มีอยู่ในความตกลง CPTPP แล้ว และถ้าไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ไทยก็ไม่ต้องขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา หรือให้การผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา แต่อย่างใดเลย

คำถามต่อมา เป็นไปได้หรือไม่ว่า วันหนึ่งเรื่องทั้งสองนี้จะกลับเข้ามาอยู่ในความตกลง CPTPP อีกครั้ง กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตอบว่า เป็นไปได้ยากมาก เพราะทั้งสองเรื่องจะกลับมาได้ก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิก CPTPP ทุกประเทศ ต้องมีมติเอกฉันท์ที่จะให้นำกลับมา 100% ซึ่งในเมื่อเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน และเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลก ประเทศสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศในตอนนี้ (ซึ่งเคยโหวตให้ถอน) ก็ไม่มีใครต้องการให้เรื่องเหล่านี้กลับมา

และถ้าไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ไทยก็จะมีสิทธิมีเสียงที่จะคัดค้าน ไม่ยอมให้ทั้งสองเรื่องนี้ กลับเข้ามาอยู่ในความตกลง CPTPP ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะ #ไม่ทำให้ไทยต้องขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยาวนานกว่ากฎหมายไทยปัจจุบัน และ #ไม่ต้องให้การผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา รวมทั้งหากไทยเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว #ไทยก็จะมีสิทธิมีเสียงคัดค้านไม่ยอมให้ทั้งสองเรื่องนี้กลับเข้ามาบังคับใช้ได้อีกด้วย

เป็นข้อชี้แจงจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แบบชัดๆ ตรงประเด็น

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง