​CPTPP ยังอยู่แค่ 3.5 จาก 12 ขั้นตอน

img

ตอนนี้ กระแสคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP หรือความความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ขั้นตอนการเจรจาเข้าร่วมยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น ยังไม่ไปถึงไหน ไม่มีอะไรที่เป็นข้อผูกมัด หรือผูกพันประเทศไทยใดๆ ทั้งสิ้น
         
CNA ในฐานะที่ติดตามข่าวเรื่องนี้มาโดยตลอด มีรายละเอียดขั้นตอนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย มาให้ศึกษากัน   
         
ปัจจุบัน กระบวนการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ยังอยู่แค่ขั้นตอน 3.5 จากทั้งหมด 12 ขั้นตอน
         
ตอนนี้ ผ่านขั้นตอนที่ 1.ศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบของความตกลง CPTPP 2.รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และ 3.รวบรวมความเห็นและผลการศึกษา ไปแล้ว และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมหรือไม่
         
แต่ก็เกิดปัญหา มีการคัดค้านเกิดขึ้น
         


รัฐบาลได้หาทางออกด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง CPTPP   
         
ทำให้ขั้นตอนที่วางไว้เดิม แตกจากขั้นตอนที่ 3 ไปเป็นขั้นตอน 3.5 เพิ่มเข้ามา
         
ตอนนี้เป็นหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ที่จะพิจารณา จากนั้นจะนำเสนอผลการพิจารณาให้สภาผู้แทนราษฎร ต่อด้วยเสนอ ครม. พิจารณาอีกครั้ง 
         
ตอนนั้น ถึงจะจบขั้นตอนที่ 4 เห็นชอบไม่เห็นชอบ ก็จะอยู่ตรงนี้ ถ้าเห็นชอบ ก็จะไปสู่ขั้นตอนที่ 5 ยื่นหนังสือต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม
         
ขั้นตอนที่ 6 คณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP หรือ CPTPP Commission ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกเดิม 11 ประเทศ จะพิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน CPTPP เพื่อเจรจากับไทย
         
ซึ่งในขั้นตอนที่ 6 นี้ ต้องผ่านการพิจารณาของ CPTPP Commission ซึ่งจะประชุมกันปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2563 จะจัดประชุมในวันที่ 5 ส.ค.2563
         
ถ้าไทยยื่นไม่ทัน ก็ต้องรอปี 2564 และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีอังกฤษ จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาต่อคิว ขอเจรจาด้วย
         


ขั้นตอนที่ 7 เป็นขั้นตอนการเจรจา ซึ่งไทยจะมีคณะเจรจาที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้าไปเจรจาข้อผูกพันและต่อรองขอข้อยกเว้นและความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาปรับตัวที่เหมาะสม
         
ขั้นตอนที่ 8 คณะทำงาน CPTPP เสนอคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP เห็นชอบผลการเจรจา
         
ขั้นตอนที่ 9 เสนอผลการเจรจาต่อ ครม. ถ้า ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่
         
ขั้นตอนที่ 10 เสนอผลการเจรจาต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาเห็นชอบ ก็จะไปสู่
         
ขั้นตอนที่ 11 ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP
         
และขั้นตอนสุดท้าย 12 เข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยสมบูรณ์
         
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการเจรจา ตั้งแต่ 1-10 จะยังไม่มีผลอะไรผูกพันประเทศไทย และในขั้นตอนการเจรจา (ขั้นตอนที่ 7) ยังเปิดให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม และเสนอแนะความคิดเห็น เพื่อประกอบท่าทีในการเจรจาได้ และจะมีการแจ้งผลการเจรจาเป็นระยะๆ   
         
แต่ในท้ายที่สุด หากเห็นว่าเมื่อเจรจาไปแล้ว ไทยได้ไม่คุ้มเสีย ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมความตกลง CPTPP แต่ถ้าไทยได้มากกว่าเสีย ก็ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายที่จะตัดสินใจว่าไทยจะเดินหน้าต่อหรือไม่

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง