​“พาณิชย์”เล่นบทเข้ม!!! ใช้ยาแรง แก้ปัญหา “หน้ากากอนามัย” ขาดแคลน

img

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์แอบซุ่มเงียบจัดการปัญหา “หน้ากากอนามัย” อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการอะไรบ้าง ใช้มาตรการแบบไหน แล้วผลเป็นยังไง ไปติดตามกันได้เลย (แต่ถ้าใครยังต่อไม่ติด ไปอ่าน “ใครเล่นกลสต๊อก “หน้ากากอนามัย” ได้ตามลิงก์นี้ www.commercenewsagency.com/report/2962 เพื่อปูพื้นก่อน)
               
วันที่ 17 ก.พ.2563 เริ่มงานวันแรกของสัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) สั่งให้ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย ปันส่วนหน้ากากอนามัย 50% ของปริมาณที่ผลิต หรือครอบครอง ให้กับศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน ในราคาไม่เกินชิ้นละ 2 บาท เพื่อนำไปบริหารจัดการต่อให้เพียงพอกับความต้องการ เริ่มปันส่วนครั้งแรกวันที่ 21 ก.พ.2563 ส่วนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการ กกร. กำหนด ซึ่งเลขาธิการ กกร. ก็คือ อธิบดีกรมการค้าภายใน
         
วันที่ 19 ก.พ.2563 อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า ยังคงห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย หลังจากมีผู้มาขออนุญาตส่งออกรวม 25 ล้านชิ้น และยังพบว่า มีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ส่งออกหน้ากากอนามัยน้อยกว่า 500 ชิ้น ส่วนการขอส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษ ยืนยันเหมือนเดิมว่าจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด
         
ทั้งนี้ ยังได้แจ้งข่าวการจับกุมผู้ค้ากำไรเกินควรที่จับได้ล่าสุดรวม 20 ราย และยังจับพวกที่ขายแพงผ่านเฟซบุ๊กได้ด้วย ถือเป็นรายแรกที่ตามจับได้ โดยกว่าจะจับได้ก็เล่นเอาเหนื่อย เพราะพวกนี้เก่ง บางรายไหวตัวทัน แล้วยังต้องจ่ายเงินเลย ไม่งั้นคนขายไม่เชื่อ แต่ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ “เงินหมด” เพราะต้องจ่ายสด งดเชื่อ แล้วเงินที่เอามาจ่าย ก็มาจากเงินสวัสดิการ จับแล้ว ส่งตำรวจแล้ว ไม่ใช่ว่าจะได้เงินคืนทันที ต้องรอโน่น คดีตัดสิน ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไร ถึงจะได้คืน ยิ่งตอนนี้ ต้องตามจับ ตามล่อซื้ออีกเพียบ เงินไม่มีตอนไหน ยังตอบไม่ได้  
         
วันที่ 20 ก.พ.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศ กกร.ฉบับใหม่ ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชิ้น ยกเว้นให้นำติดตัวออกไปได้ไม่เกิน 30 ชิ้น แต่ถ้าเป็นคนป่วย มีใบรับรองแพทย์ นำออกได้ไม่เกิน 50 ชิ้น ส่วนการส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษ ให้ขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการ ที่จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
         
วันที่ 21 ก.พ.2563 อธิบดีกรมการค้าภายในนัดแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องหน้ากากอนามัย งานนี้ ตอบข้อสงสัยที่เคยสงสัยกันมาได้หมด ทั้งเรื่องสต๊อกหน้าการอนามัย 200 ล้านชิ้นหายไปไหน สินค้าในประเทศมีเพียงพอหรือไม่ แนวโน้มราคาจะเป็นอย่างไร หรือพวกที่เอาเปรียบชาวบ้าน ได้จัดการไปมากน้อยแค่ไหน
         
ไปดูคำตอบในแต่ละเรื่องกัน เริ่มจากสต๊อกหน้ากากอนามัย ย้อนกลับไปวันที่ 6 ก.พ.2563 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย แจ้งสต๊อกหน้ากากอนามัยในครอบครอง ปรากฏว่า มีสต๊อกในมือแค่ 2.17 แสนชิ้น ย้ำ 2.17 แสนชิ้น ถึงขนาดที่อธิบดีกรมการค้าภายในต้องบอกว่า “ผมยังจำได้ติดตามาจนถึงวันนี้” เพราะตัวเลขมันสวนทางกับตัวเลขสต๊อกที่ผู้ผลิตเคยบอกว่ามีสูงถึง 200 ล้านชิ้นก่อนหน้านี้
         
แล้ว 200 ล้านชิ้นไปไหน อธิบดีไม่ได้ตอบตรงๆ แต่บอกว่า ปี 2562 ทั้งปี มีการส่งออกหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 200% และเฉพาะเดือนม.ค.2563 เดือนเดียว มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 300% แสดงว่า แค่ไม่กี่วันก่อนที่ประกาศ กกร. จะบังคับใช้ และให้แจ้งสต๊อก น่าจะมีการเร่งส่งออกกันอย่างทะลักทะล้น
         
แล้ววันนี้สถานการณ์สต๊อกเป็นยังไง สรุปถึงวันที่ 20 ก.พ.2563 มีผู้แจ้งสต๊อกเข้ามารวม 28 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นทันตาเห็น หลังใช้มาตรการห้ามส่งออก แล้วยิ่งมีมาตรการเข้มห้ามส่งออกทุกชิ้น ก็มั่นใจว่า สต๊อกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
         
ถามต่อ แล้วในประเทศจะมีเพียงพอหรือไม่ ตอนนี้สต๊อกเพิ่มขึ้นแล้ว เพิ่มขึ้นจากหน้ากากอนามัยที่ห้ามส่งออก จากที่ขอมา 32 ล้านชิ้น (ตัวเลขล่าสุดถึง 20 ก.พ.2563) แต่ในจำนวนนี้ให้ส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษไป 2.1 ล้านชิ้น แต่จะได้กลับคืนมา 8.3 ล้านชิ้น เพราะโรงงานจะผลิตส่งมาให้ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย เป็นเงื่อนไขที่ตกลงกัน

อย่างไรก็ตาม ไปดูตัวเลขที่ขอส่งออก ต้องหักที่ผู้ส่งออกขอถอนไม่ส่งออกอีก 11 ล้านชิ้น แต่เอาเข้าจริง พอไปขอปันส่วนใน 11 ล้านชิ้น กลับแจ้งว่าไม่มีของส่งออก แค่มาขอตัวเลขส่งออกเอาไว้ ทำให้เหลือหน้ากากอนามัยจริงๆ ที่ขอส่งออกประมาณ 19 ล้านชิ้น ดังนั้น เมื่อมีการขอปันส่วนสต๊อกที่มีอยู่มาครึ่งหนึ่ง ทั้งจากที่จะส่งออกและจากสต๊อกที่มีอยู่ น่าจะทำให้สถานการณ์การขาดแคลนเบาบาง เพราะหน้ากากอนามัยที่ได้มา จะนำไปกระจายต่อให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ก่อน อย่างองค์การเภสัชกรรม การบินไทย สมาคมร้านขายยา และได้เพิ่มช่องทางการจำหน่าย นอกเหนือจากจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ ร้านธงฟ้า 900 แห่งทั่วประเทศ คือ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 บิ๊กซี เทสโก้โลตัส และวิลล่า มาร์เก็ต รวมๆ แล้วน่าจะมี 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ แต่ได้จำกัดการซื้อคนละ 4 ชิ้นๆ ละ 2.50 บาท รวมแล้วจ่ายแค่ 10 บาท และสามารถซื้อได้ทุกวัน
         
ส่วนการจัดการกับพวกเอาเปรียบ พวกหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน ล่าสุดจับกุมไปแล้ว 30 ราย ในจำนวนนี้เป็นพวกขายออนไลน์ 3 ราย ส่งตำรวจดำเนินคดีหมดแล้ว มีโทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
         
เป็นยาแรงที่ออกมา และหวังว่า รอบนี้ จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้แบบอยู่หมัด

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง