
สนค.เผยดัชนีราคาส่งออก มี.ค.68 ลด 0.6% เหตุส่งออกน้ำมัน ข้าว มันสำปะหลังได้ลดลง แต่ทองคำ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารสัตว์ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เพิ่มตามความต้องการที่สูงขึ้น ส่วนดัชนีนำเข้า ลด 2.8% จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงลด แต่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทุน วัตถุดิบ เพิ่มขึ้น คาดไตรมาส 2 ยังคงชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจโลกชะลอ ความไม่แน่นอนนโยบายการค้าสหรัฐฯ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกเดือน มี.ค.2568 เท่ากับ 111.0 ลดลง 0.6% ขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหลักจากราคาสินค้าเกษตรบางกลุ่มปรับลดลง จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง และส่งผลให้สินค้าเกี่ยวเนื่องลดลงตามไปด้วย แต่ก็มีหลายสินค้าที่ส่งออกเพิ่ม จากการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่วนดัชนีราคานำเข้า เท่ากับ 114.3 ลดลง 2.8% เป็นผลจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงลดลงเป็นสำคัญ แต่กลุ่มสินค้าทุน วัตถุดิบ และอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวตามความต้องการใช้ภายในประเทศและส่งออก
สำหรับรายละเอียดดัชนีราคาส่งออกที่ลดลง มาจากการหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลด 10.1% โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลด 2.9% ได้แก่ ข้าว ตามภาวะอุปทานส่วนเกิน จากสต็อกข้าวโลกที่อยู่ในระดับสูง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการในตลาดจีนมีแนวโน้มลดลง
ส่วนหมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 1.5% ได้แก่ ทองคำ ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สำหรับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดต่างประเทศ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 1.3% ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ตามจำนวนการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความนิยมอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน
ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าที่ลดลง มาจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลด 6.1% โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลจากอุปทานส่วนเกินและความต้องการที่ชะลอตัว หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีบางสินค้าราคาสูงขึ้น คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ในการผลิตและส่งออกของประเทศ แต่รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงตามความต้องการที่ชะลอลง ประกอบกับมีการแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกในตลาดโลก ส่วนหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่ม 8.1% ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประเทศ หมวดสินค้าทุน เพิ่ม 4.6% ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล การปรับโครงสร้างการผลิต และการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่ม 4.5% โดยเฉพาะทองคำ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น สำหรับอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า ตามความต้องการเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการนำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้า ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2568 เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้าขยายตัว ได้แก่ ฐานราคาปี 2567 ในช่วงครึ่งปีแรก ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2568 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี และต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ ราคาสินค้าเกษตรลดลง จากปัญหาอุปทานส่วนเกิน การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และความผันผวนของเงินบาท
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง