​“พาณิชย์”ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด “ลิ้นจี่นครพนม” คาดปีนี้เกษตรกรมีรายได้ 120 ล้าน

img

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 “ลิ้นจี่นครพนม” สินค้า GI ของดีเมืองพระธาตุพนม เดินหน้าช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ประสานนำขายในตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ท็อปมาร์เก็ต และเครือข่ายร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมในจังหวัด คาดสร้างปีนี้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 120 ล้านบาท  
         
น.ส.นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำทีมงานลงพื้นที่แหล่งผลิตลิ้นจี่ เพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 “ลิ้นจี่นครพนม” ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของ จ.นครพนม เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้กับกลุ่มเกษตร โดยกรมได้ประสานกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โรงแรม และร้านอาหารในจังหวัด ให้ช่วยรับซื้อ และยังได้สนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
         
สำหรับลิ้นจี่นครพนม เป็นลิ้นจี่ที่ไม่ต้องการอากาศหนาวเย็นมากนัก และด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขง มีดินอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ส่งผลให้ลิ้นจี่นครพนมมีลักษณะโดดเด่นเปลือกสีแดง อมชมพู ผลใหญ่ รูปทรงไข่ เนื้อผลแห้ง สีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด ซึ่งเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของลิ้นจี่นครพนมเท่านั้น และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่นครพนมจะมีประมาณ 1,000–1,200 ตัน และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดกว่า 120 ล้านบาท
         


ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจบริโภคลิ้นจี่นครพนม สามารถหาซื้อได้ที่ห้างสรรพสินค้าชั้น อาทิ ตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ท็อปมาร์เก็ต และเครือข่ายร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงแรมใน จ.นครพนม เช่น ร้านชมนคร ร้านชีวาคาเฟ่ โรงแรมชีวาโขง และร้านเอสเคคาเฟ่ ที่ได้รับซื้อลิ้นจี่นครพนมไปใช้เป็นวัตถุดิบและแปรรูปต่าง ๆ อาทิ เค้กลิ้นจี่ กาแฟลิ้นจี่ ลิ้นจี่โซดา เป็นต้น
         
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสินค้า GI ตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล เพราะสินค้า GI เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชน มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ส่งผลให้สินค้ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนส่งเสริมสินค้า GI ในทุกมิติ ทั้งการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GI และสนับสนุนการขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย ซึ่งล่าสุด มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 230 สินค้า มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง