​น้ำมัน อาหาร เครื่องดื่ม ดันเงินเฟ้อ ม.ค.68 เพิ่ม 1.32% บวก 10 เดือนติด

img

เงินเฟ้อประเดิมปี 68 ม.ค.เพิ่ม 1.32% บวกต่อเนื่อง 10 เดือน สูงทะลุ 1% เป็นเดือนที่ 2 จากราคาน้ำมัน หมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น คาด ก.พ.-มี.ค. ยังสูงเกิน 1% จากฐานน้ำมันปีก่อนสูง ท่องเที่ยวโตดันสินค้าและบริการขยับ สินค้าเกษตรบางตัวยังสูง พร้อมปรับฐานสินค้าและบริการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อใหม่เป็น 464 รายการ จากเดิม 430 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริโภคในปัจจุบัน
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ม.ค.2568 เท่ากับ 100.57 เทียบกับ ม.ค.2567 เพิ่มขึ้น 1.32% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงขึ้นเกิน 1% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
         
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ม.ค.2568 ที่สูงขึ้น 1.32% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.78% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น กลุ่มผลไม้สด (ฝรั่ง มะม่วง สับปะรด) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล ปลาทูนึ่ง ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย) และกลุ่มผักสด (แตงกวา ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เห็ด) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ไก่ย่าง พริกสด มะนาว หัวหอมแดง กระเทียม ผักกาดขาว และกะหล่ำปลี เป็นต้น
         
ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 1% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าโดยสารเครื่องบิน ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว น้ำยาระงับกลิ่นกาย) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษ) เป็นต้น
         


ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ม.ค.2568 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.83% เร่งตัวขึ้นจากเดือน ธ.ค.2567 ที่สูงขึ้น 0.79%
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.พ.2568 คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือน ม.ค.2568 โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน และราคาสินค้าเกษตรบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังไม่เข้าสู่ระดับปกติ หลังจากได้รับผลกระทบของภัยแล้งอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว ส่วนเดือน ก.พ.2568 ก็น่าจะยังเกิน 1% และคาดว่าไตรมาสที่ 1 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 1.1-1.2%
         
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากการที่ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและการตรึงราคาก๊าซ LPG ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่นี้นี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 
         
นอกจากนี้ สนค.ได้ปรับฐานสินค้าและบริการที่นำมาใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อใหม่ เพิ่มเป็น 464 รายการ จากปีฐาน 2562 มีจำนวน 430 รายการ มีทั้งปรับออก และเพิ่มเข้า โดยสินค้าที่ปรับออก เช่น นิตยสารรายเดือน และที่เพิ่มเข้า เช่น ปลาแซลมอล อะโวคาโด น้ำปลาร้า เกลือแร่ สมาร์ทวอช พลังงานไฟฟ้า กล้องติดรถยนต์ ฟิล์มกันรอย เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการบริโภคในปัจจุบัน ส่วนเครื่องฟอกอากาศ คาดว่าจะปรับเข้าในระยะต่อไป

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง